เปิดโลกวรรณกรรมและนักเขียนหญิง 25 ท่านที่ Muzeul Național al Literaturii Române (The National Museum of Romanian Literature)

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และ

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ช่วงสองอาทิตย์แรกที่คิชิเนา เราไปที่มหาวิทยาลัยบ่อยพอสมควร แต่ไม่เคยสังเกตอาคารชั้นเดียว 2 หลังที่อยู่เยื้อง ๆ มหาวิทยาลัยเลย จนวันหนึ่งได้นั่งรถ trolleybus กลับบ้านผ่านฝั่งนั้นพอดี รถแล่นอย่างช้า ๆ สายตาเราก็แวบไปเห็นป้ายขนาดย่อม มีคำว่า Muzeul และ Literaturii… วิชาเดาก็ต้องเข้าละ มันน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ และมีอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือ/วรรณกรรมแน่ ๆ … ใจก็นึกไปว่า จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าไหมนะ และจะมีอะไรข้างในบ้างนะ
กลับถึงหอพัก ก็หาข้อมูลเพิ่มทันที และพบว่า…นี่คือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติวรรณกรรมโรมาเนีย…จากข้อมูลในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ และเว็บไซต์อื่น ๆ พอจะสรุปประวัติของพิพิธภัณฑ์แบบย่อๆ แบ่งให้ทุกท่านได้รู้จักไปพร้อมกัน ….พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 ภายใต้การอุปถัมภ์ของสหภาพนักเขียนแห่งมอลโดวา โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกคือ เพื่อศึกษา ค้นพบ รวบรวม และอนุรักษ์มรดกทางวรรณกรรม วัฒนธรรม และศิลปะของมอลโดวายุคกลาง ทันสมัย และร่วมสมัย
ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ มีป้ายจัดแสดงประวัตินักเขียนเรียงตามรั้ว เสมือนนิทรรศการย่อย ๆ ด้านนอก

กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติว่าด้วยวรรณกรรม

ชื่อของพิพิธภัณฑ์ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย ขอสรุปสั้น ๆ แบบรวบรัดตรงนี้เพื่อจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

– เริ่มก่อตั้งในชื่อว่า พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมสาธารณรัฐของ MSSR (ช่วงภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต)

– ปี 1983 ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Dimitrie Cantemir ตามหนึ่งในคนสำคัญด้านวรรณกรรมของประเทศ

– ปี 1990 ก็มีการยุบ (Disband) การเป็นพิพิธภัณฑ์ และกลายมาเป็น “Mihail Kogălniceanu” National Centre for Literary Studies and Museography (อันนี้ยอมใจจริง ๆ ไม่กล้าแปล แต่น่าจะเป็นศูนย์ศึกษาวรรณกรรมและพิพิธภัณฑ์วิทยาแห่งชาติ Mihail Kogălniceanu)

– ปี 1997 ก็เปลี่ยนมาเป็นชื่อ พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมโรมาเนีย Mihail Kogălniceanu

– วันที่ 1 มกราคม 2013 รัฐบาลมอลโดวา ยกระดับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และมาขึ้นกับกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อการจัดการบริหารงานและบริหารสาขาอื่นของพิพิธภัณฑ์นี้ (แทนสหภาพนักเขียน)

– ยกระดับบ้านของสองนักเขียนชาวมอลโดวา Grigore Vieru (ปี 2015) และบ้านของ Alexandru Donici (ปี 2019) เป็นพิพิธภัณฑ์

อาคารจัดแสดงด้านซ้ายของทางเข้า
อาคารจัดแสดงด้านขวาของทางเข้า เป็นอาคารทรงร่วมสมัย
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติวรรณกรรมโรมาเนียในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือทั้งรวบรวม อนุรักษ์ ปกป้อง และยกย่องมรดกทางวรรณกรรมและศิลปะจากพื้นที่นี้, ทำให้มรดกทางวรรณกรรมและศิลปะเข้าถึงได้, เผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับมรดกทางวรรณกรรม รวมทั้งปลูกฝังความสนใจด้านวรรณคดีและศิลปะให้กับประชาชนในกลุ่มอายุต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมที่เหมาะสม
ทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์เก็บสะสมสิ่งของจัดแสดงไว้มากกว่า 1 แสนรายการทั้งหนังสือ ต้นฉบับ ศิลปวัตถุ ภาพถ่าย เทปเสียง วิดีโอ และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการรวบรวมในระหว่างปี 1965 – 1991 ด้วยความพยายามของสถาบันฯ และคอลเล็กชันที่มีมากที่สุดคือ ต้นฉบับงานเขียน (28,000 รายการ)
เราเลือกไปชมวันเสาร์ เพราะอากาศที่คิชิเนาวันนั้นค่อนข้างเย็นและมีเมฆมาก เลยคิดว่าน่าจะเป็นวันที่เหมาะกับการเดินในพิพิธภัณฑ์ ความสนุกก็เริ่มต้นที่การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบจนทราบว่าค่าเข้าชมและค่าใช้จ่ายเพิ่มในการถ่ายภาพ แต่ปรากฏว่า เราไม่มีเงินสดย่อยพอดีกับค่าบัตร และเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีเงินทอน เราเลยต้องออกไปหากาแฟดื่มเพื่อ “แตกแบ๊งค์ย่อย” พอกลับมาใหม่ธนบัตรที่เรามีก็ยังจ่ายไม่ได้ เพราะเงินทอนก็ยังไม่พอ สุดท้าย เราเลยไม่ได้ดูงานในวันเสาร์ และทำให้ต้องกลับไปใหม่ การกลับไปใหม่นี่แหล่ะที่ทำให้เรามีเรื่องเล่าแยกอีกเรื่องในงานชิ้นถัดไป (เปิด trailer รอแล้วให้กดติดตามแล้ว)

ว่าด้วยนักเขียนหญิงของมอลโดวา/โรมาเนีย

เรากลับไปพิพิธภัณฑ์อีกรอบในวันพุธ (19/06/2024) เดินเข้าไปรอบนี้ด้วยแดดที่สดใส และเห็นว่าประตูเข้าตึกจัดแสดงเปิดทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายขวา) เราเลือกไปตึกด้านขวามือก่อน เพราะเป็นตึกที่เราแวะไปมาแล้วเมื่อวันเสาร์ ตึกนี้เป็นตึกแบบร่วมสมัย เป็นอาคารจัดแสดงหลัก ตอนที่เราไปเข้าชม เป็นช่วงของการจัดแสดงผลงานของนักเขียนหญิงของมอลโดวา/โรมาเนียจำนวน 25 ท่าน ถ้าดูจากข้อมูลรายชื่อนักเขียนในโปสเตอร์ นักเขียนหญิงคนแรกคือเกิดในปี 1843 และนักเขียนในรายชื่อคนสุดท้ายคือเกิดในปี 1952 (และยังมีชีวิตอยู่) การจัดแสดงเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่ละท่านจะมีภาพวาดสีน้ำมันตั้งแสดงข้าง ๆ ตู้แสดงผลงาน ในตู้ก็จะจัดแสดงหนังสือ ภาพถ่าย ต้นฉบับ เครื่องประดับ หรือสิ่งของอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับนักเขียนท่านนั้น ๆ คำอธิบายสิ่งจัดแสดงก็จัดทำอย่างเรียบง่าย มีประวัติย่อ ๆ ของนักเขียนพิมพ์ในกระดาษขนาด A4 (หรือเล็กกว่า) ส่วนคำอธิบายประกอบสิ่งจัดแสดงอื่นสั้นกระชับ พิมพ์บนกระดาษธรรมดา ช่วยให้ผู้เข้าชมที่ไม่เข้าใจภาษาโรมาเนียนอย่างเราสามารถใช้ google translate แปลด้วยการใช้กล้องได้อย่างรวดเร็ว
ป้ายโปรโมตงานนิทรรศการ แปลได้ว่า “25 female voices in Romanian Literature”
ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการเดินชมทีละตู้ ส่องสิ่งจัดแสดงที่สนใจ เห็นถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นในการรวบรวมและจัดเก็บสิ่งที่เรียกได้ว่า “มรดกทางวรรณกรรม” ของที่นี่ เราว่าคนที่มาเยี่ยมชมคงจะภาคภูมิใจกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมและวรรณกรรมของประเทศ อย่างน้อยเราคนหนึ่งก็รู้สึกแบบนี้ และสำหรับเราแล้ว ศิลปะไม่ใช่อยู่ที่แค่ตัวอักษรในวรรณกรรม เรายังประทับใจในศิลปะบนปกหนังสือของเล่มที่จัดแสดง เราเลยถ่ายเจาะเฉพาะเล่มที่สะดุดตามาฝากให้ชมกันค่ะ (ภาพที่นำมาแบ่งปันกันชมนี่แค่ส่วนหนึ่งที่ถ่ายเก็บไว้)
การจัดแสดงอย่างเรียบง่าย มีภาพวาดสีน้ำมันของนักเขียน และตู้แสดงผลงานด้านข้าง ชุดนี้เป็นของ Ariadna SALARI (1923 – 2016)
Veronica MICLE (1850 – 1889) นักเขียนหญิงคนสำคัญ น่าเสียดายที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย
การจัดแสดงผลงานของ Vera MALEV (1926 – 1995)
Ludmila SOBIETSKY (1952) นักเขียนคนที่ 25 ในการจัดแสดงครั้งนี้
Carmen SYLVA (1843 3 1916) นักเขียนหญิงคนแรกในการจัดแสดงครั้งนี้
Leonida LARI (1949 – 2011)
Olga CRUSEVAN (1896 – 1975)
บางส่วนของภาพปกวรรณกรรมที่เขียนโดยนักเขียนหญิงที่จัดแสดงในงานนี้
การเดินทางรอบนี้ เรามีความตั้งใจอยากไปดูพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก และก็สมใจอยาก เพราะที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์นอกแผนที่นักท่องเที่ยว แถมยังเป็นเรื่องหนังสือ วรรณกรรมที่เราสนใจอีกด้วย เห็นแบบนี้แล้วก็นึกอยากให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย หรือองค์กรด้านวรรณกรรมในไทยเริ่มทำการเก็บรวบรวมต้นฉบับ หนังสือต่าง ๆ สร้างเป็นคลังความรู้และประวัติศาสตร์ของนักเขียนไทยบ้างจัง คนรุ่นหลังจะได้เข้าใจบริบทสังคมและประเทศผ่านทางวรรณกรรมอีกทางหนึ่ง
บางส่วนของสิ่งจัดแสดง มีทั้งหนังสือ ต้นฉบับ ภาพวาด สิ่งของส่วนตัวของนักเขียน
พอดูจบแล้วก็เลยถามเจ้าหน้าที่ด้วย Google Translate ว่าเราขอเข้าไปดูอีกตึกด้านซ้ายมือจะได้ไหมเพราะว่ามารอบที่แล้วตึกนั้นปิด เจ้าหน้าที่ก็พยักหน้าแล้วตอบเป็นภาษาโรมาเนียนและภาษามือ เดา ๆ ได้ว่า …รอแป๊บนึง…ในขณะเดียวกัน ก็มีชายหนุ่มเดินกลับเข้ามาในพิพิธภัณฑ์พอดี เจ้าหน้าที่ก็เหมือนจะบอกหนุ่มคนนี้ให้ไปพร้อมกัน … หนุ่มคนนี้แหล่ะค่ะ ที่เป็นต้นทางของเรื่องราวในชิ้นถัดไป … รอติดตามนะคะ

I almost missed a chance to visit this ‘small but rich’ museum, Muzeul Național al Literaturii Române, if I didn’t use the trolleybus the other day. This museum has not been listed in the tourist map. Only a brief encounter with the sign, I saw two main words – Muzeul and Literaturii. It sparked my excitement and interests. From the Internet, this museum was found in 1965 on the initiative of the Writers’ Union of Moldova. Its name and mission were changed several times from that period. However, in 2013, the museum was recognized as a national museum and was transferred to be under the Ministry of Culture of the Republic of Moldova. It has been taken the name of
Muzeul Național de Literatură „Mihail Kogălniceanu (National Museum of Literature “Mihail Kogălniceanu”) since then.

During my visit, one of the main exhibitions was “25 female voices in Romanian literature”. The display was simple, but informative. The collections and objects reflect the well intention to conserve and protect country’s literary heritage objects, as well as to inform and educate the general public on literature and all these heritage objects. Spending an hour in this museum, I was thrilled with Moldova’s literature and its heritage. The aesthetic of literature can be seen through the book covers. I found it fascinating on the art direction, style and design of each period.

Thai literature also has a long history. I wish “Writers Association of Thailand” has been documented and collected books and author-related objects. Our next generation then can understand and learn about our country and society through the history of literature and point of views of those authors.

บทความนี้เป็นประสบการณ์จากการเดินทางในฐานะนักวิจัยแลกเปลี่ยน ภายใต้โครงการ Marie Curie Research and Innovation Staff Exchange scheme within the H2020 Programme (LABOUR Project)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *