ความบังเอิญหรือชะตาลิขิตที่ Muzeul Național al Literaturii Române (The National Museum of Romanian Literature)

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และ

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องนี้เป็นภาคต่อจาก “เปิดโลกวรรณกรรมและนักเขียนหญิง 25 ท่านที่ Muzeul Național al Literaturii Române (The National Museum of Romanian Literature)” ในบทความที่แล้ว เราทิ้งท้ายถึงชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ชวนให้เดินไปอีกตึกหนึ่งพร้อม ๆ กัน (ถ้ายังไม่ได้อ่านบทความนั้น แนะนำให้ค่ะ)

การเดินทางมามอลโดวาในฐานะนักวิจัยแลกเปลี่ยนในโครงการ Marie Curie Research and Innovation Staff Exchange scheme within the H2020 Programme (LABOUR Project) นี้ เราใช้แต้มบุญเยอะมาก เราเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเป็นโชคชะตานำพา ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีจังหวะชีวิตของมัน เรื่องที่เกิดกับเราในครั้งนี้ก็เช่นกัน
ระหว่างเดินข้ามไปตึกด้านซ้ายของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติวรรณกรรมโรมาเนีย เจ้าหน้าที่ก็สนทนาเป็นภาษาโรมาเนียนกับชายหนุ่ม เราก็เลยหันไปถามว่า พูดภาษาอังกฤษได้ไหม จะขอช่วยแปลที่เจ้าหน้าที่คุยกับคุณให้เราได้ไหม … เขาก็ทำหน้างง ๆ แล้วก็บอกว่าพูดได้ …โห สำเนียงไม่ธรรมดาอะ เราก็เริ่มชวนคุย ถามว่าเป็นคนที่ไหนเหรอ เขาบอกว่าคนมอลโดวานี่แหล่ะ แต่ไปทำงานให้กับองค์กรระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่เมืองบูดาเปส (ประเทศฮังการี)… แล้วเค้าก็เริ่มทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับเรา
ตึกที่เราเข้าไปดูนั้น มี 2 ห้องใหญ่ ห้องแรกคือห้องสีชมพู (Pink Room) เป็นนิทรรศการของ Gheorghe Malarciuc (1934 – 1992) ที่เป็นนักเขียนหนังสือและนักเขียนบทภาพยนตร์ นิทรรศการนี้เป็นการแสดงชีวประวัติและผลงาน เพื่อฉลองครบรอบอายุ 90 ปี การจัดแสดงก็เรียบง่าย มีจัดเรียงสิ่งของในตู้ พร้อมคำบรรยายสั้น ๆ … เราเดินดู ถ่ายภาพไปพลาง คุณ Alex ถามว่าทำไมเรามาดูพิพิธภัณฑ์นี้ (คงนึกสงสัยว่าเป็นชาวเอเชีย ไม่รู้ภาษาโรมาเนียน แต่ก็ยังมาเดินดูหนังสือ) ก็ตอบไปสวย ๆ ว่า เราชอบเรื่องพิพิธภัณฑ์ แล้วเราก็ชอบอ่านหนังสือ เราเลยสนใจพิพิธภัณฑ์นี้ เพราะไม่เคยเจอที่ไหนเลย … แต่เรามีเวลาเดินห้องนี้ไม่นาน เพราะต้องรีบตาม 2 ท่านนั้นไปอีกห้อง
ด้านหน้าอาคาร ตั้งป้ายแสดงชื่อนิทรรศการอย่างเรียบง่าย
ด้านหน้าอาคาร ตั้งป้ายแสดงชื่อนิทรรศการอย่างเรียบง่าย
ห้องสีชมพูจัดแสดงนิทรรศการชุด "Gheorghe Malarciuc, the man and his time. 90 years since birth".

จังหวะชีวิตที่โชคชะตานำพา

อีกห้องคือ Green Room … ห้องสีเขียวที่จัดแสดงนิทรรศการฉลอง 100 ปีชาตกาลของ Alexei Marinat นักเขียนชื่อดังคนหนึ่งของมอลโดวา … พอเดินเข้าไปในห้องนี้ คุณ Alex ก็หันมาบอกเราว่า เขาตั้งใจมาดูห้องนี้ เพราะคนนี้คือปู่ของเขา … ถ้าเป็นฉากในหนัง ก็จะประมาณ…จากภาพกว้างเห็นบรรยากาศของห้อง กล้อง dolly เข้ามาที่หน้าของเรา กลายเป็นภาพ close-up shot ที่เราอ้าปากค้างและตาเบิกโพลง … หลังจากนั้น คุณ Alex ก็ทำหน้าที่เป็นไกด์นำชมแบบส่วนตัวให้กับเรา … แล้วแบบนี้ไม่ให้เรียกว่า “แต้มบุญ” จะหมดหรือคะ
ห้องสีเขียว จัดแสดงนิทรรศการชุด “centenary of the birth of Alexei Marinat”
คุณ Alex สนทนากับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่นำชม
คุณ Alex สนทนากับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่นำชม
คุณ Alex เล่าประวัติคร่าว ๆ ของคุณปู่ให้ฟังว่า คุณปู่ของเขาเกิดที่เมืองคิชิเนา เป็นนักเขียนมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ ช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียต คุณปู่ก็เขียนบันทึกที่ต่อต้านสหภาพโซเวียต เรื่องก็คือ คุณปู่เอาบันทึกนี้ไปให้เพื่อนสนิทอ่าน แล้วเพื่อนสนิทกลับเอาเรื่องของคุณปู่ของเขาไปบอก KGB ทำให้คุณปู่ถูกจับเป็น Gulag (นักโทษการเมือง) ถึง 8 ปี
ผลงานบางส่วนของ Gheorghe Malarciuc ที่จัดแสดง
พอได้รับการปล่อยตัว ก็กลับมาทำงานเขียนหลากหลายรูปแบบ ทั้งนวนิยาย บทละคร รวมทั้งเคยเป็นนักข่าว/นักหนังสือพิมพ์ด้วย แล้วลักษณะงานก็เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์และอายุ หนังสือเล่มสำคัญของคุณ Alexei Marinat คือ Eu și lumea, jurnal de detenție ที่แปลได้ว่า Me and The World – Detention Diary (1999) ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำในช่วงที่ถูกกักขัง
คุณ Alex ก็พาเดินดูสิ่งของจัดแสดงในตู้ต่าง ๆ และเล่าถึงความทรงจำของเขาที่มีต่อคุณปู่และสิ่งจัดแสดง … ในนิทรรศการมีภาพวาดสีน้ำมันเป็นรูปคุณปู่ของเขาอยู่ 2 ภาพ ตอนไปยืนดูที่ภาพแรก เขากระซิบว่า ภาพนี้ไม่เหมือนคุณปู่เขาเลย… (มีเม้าอีก) … พอไปยืนดูภาพวาดสีน้ำมันภาพที่สอง… คุณ Alex หันมาบอกว่า เนี่ย รูปนี้เหมือนคุณปู่ของเขามากกว่า … จากสองรูปที่เราเห็น เราก็รู้สึกได้ว่า คุณ Alexei ในภาพที่สองมี Charisma หรือเสน่ห์ดึงดูดมากกว่ารูปแรก
ผลงานบางส่วนของ Gheorghe Malarciuc ที่จัดแสดง
ภาพวาดสีน้ำมัน โดย Aurel David (1935 – 1984)
ตอนเดินดูนิทรรศการ คุณ Alex หันมาคุยกับเราว่า ที่จริงเขาไม่ต้องมาดูงานนี้ก็ได้ เพราะเขาเห็นสิ่งที่จัดแสดงมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว แต่จังหวะพอดีที่เขากลับมาคิชิเนาเพื่อจัดงานแต่งงาน เขาก็เลยถือโอกาสที่วันนี้ว่าง แวะมาดูนิทรรศการ …. เนี่ย ความบังเอิญหรือชะตาลิขิต… ถ้าเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา เราก็คงไม่ได้ดูห้องนี้ และไม่ได้เจอคุณ Alex อีกด้วย
พิมพ์ดีดคู่ใจของ Alexei Marinat
บทความและต้นฉบับลายมือของ Alexei Marinat
พอดูนิทรรศการนี้จบ คุณ Alex ก็บอกเราว่า เขาจะไปที่หอสมุดแห่งชาติ (National Library) เพื่อดูอีกนิทรรศการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณปู่ของเขา… เราก็เอ่ยปากขอไปตรง ๆ ว่า ขอไปด้วยได้ไหม ถ้าคุณ Alex ไม่รังเกียจ… ซึ่งเขาก็น่ารักมากที่ยอมให้คนแปลกหน้าอย่างเราเดินไปด้วย
เรามาถึงที่ National Library และได้เจอกับคุณ Christina ภรรยาของคุณ Alex ที่ยืนรอพวกเราอยู่ … พอพวกเราเข้าไปที่ห้องสมุดแห่งชาติ ก็พบว่า นิทรรศการของคุณ Alexei Marinat มีเพียงมุมเล็ก ๆ ที่อยู่โถงกลางชั้น 2 … เจ้าหน้าที่บอกว่า มีพื้นที่จำกัด เลยจัดแสดงได้แค่นี้ … คุณ Alex ผิดหวังมาก เพราะเขาคาดหวังจะได้เห็นรูปเขากับคุณปู่ที่งานนี้
คนรุ่นใหม่กับมอลโดวา
ระหว่างเดิน ก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับมอลโดวากัน เขาบอกว่าตอนนี้ ค่าครองชีพที่มอลโดวาสูงมากเมื่อเทียบกับเงินเดือนเฉลี่ยของคนที่นี่ และยิ่งถ้าเทียบกับค่าครองชีพในบูคาเรส (โรมาเนีย) หรือ บูดาเปส (ฮังการี) ที่เขาทำงานอยู่ ก็ยิ่งเห็นชัด เพราะที่โน่นจะได้สิ่งของหรือบริการที่ดีกว่า แต่จ่ายเท่ากับที่ในมอลโดวา
เรื่องค่าครองชีพและค่าตอบแทนน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำไมคนหนุ่มสาวถึงไม่อยู่ที่มอลโดวา กลับเลือกที่จะย้ายไปทำงานที่ประเทศอื่นในยุโรป เราได้ยินเรื่องนี้จากหลายคนที่เราพบเจอในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา การดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยู่พัฒนาประเทศ ถือเป็นความท้าทายข้อหนึ่งของประเทศนี้
เรากับคุณ Alex และ Christina แยกย้ายกันที่หน้าห้องสมุดแห่งชาติ … ขอบคุณสิ่งที่จะเรียกว่า “ความบังเอิญหรือชะตาลิขิต” ที่ทำให้วันนี้เราได้มาพบรู้จักคุณ Alexei Marinat ผ่านประสบการณ์ตรงของคุณ Alex ผู้เป็นหลานปู่

My visit to the Muzeul Național al Literaturii Române continued to the left-wing building of the museum. But this time, there was a young guy joining me and the museum officer. I bluntly asked him to help me translate what the museum officer explained. He was reluctant; however, he agreed to help. Our conversation – Alex and I – started here.

There, we explored two special exhibitions. The pink room showcased the life and work of Gheorghe Malarciuc – writer and filmmaker – with books, documents, manuscripts and photographs. Then, we moved to the green room – the exhibition of Alexei Marinat. Once we stepped in, Alex told me that he intended to visit this exhibition as Alexei Marinat is his late grandfather. My jaw dropped! Is this a coincidence or destiny? What if he didn’t come today? What if I visited the museum on Saturday as planned? The rest of my visit, I had Alex as my personal guide walking me through his late grandfather’s life and works. I was so blessed.

Later, I tagged along Alex to the National Library of Moldova to see another exhibition of Alexei Marinat. Unfortunately, the objects exhibited there were rather limited. Then, we departed at the library.

However, during the short walk, we exchanged our thoughts about Moldova. More and more young (and talented) people, like Alex, live and work abroad due to the high cost of living – compared to Romania or Hungary. So, I came to realize that Moldova faced the challenge to attract young and new generation to stay and work in (and for) the country.

My time with Alex was very brief, but it was one of unforgettable moments of my Moldova’s experience. And this is the joy of travelling – when you meet someone unexpectedly.

คุณ Alex, Christina และผู้เขียน

บทความนี้เป็นประสบการณ์จากการเดินทางในฐานะนักวิจัยแลกเปลี่ยน ภายใต้โครงการ Marie Curie Research and Innovation Staff Exchange scheme within the H2020 Programme (LABOUR Project)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *