Kipling Sahib: India and the Making of Rudyard Kipling

โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือเล่มนี้ชื่อ “Kipling Sahib: India and the Making of Rudyard Kipling” เขียนโดยชาร์ลส์ อัลเลน (Charles Allen) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 หลังจากนั้นก็ตีพิมพ์อีก 7 ครั้ง ที่ได้มาเป็นฉบับล่าสุด ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2014

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายคำว่า “Sahib” ในชื่อหนังสืออย่างสังเขปเสียก่อน คำ ๆ นี้สะกดได้ทั้ง “Sahib” และ “Saheb” เว็บไซต์แห่งหนึ่งระบุว่าต้นตอของคำนี้มาจากภาษาอาหรับ แต่กลายเป็นศัพท์ที่ใช้อยู่ในหลายภาษา ชาวเอเชียใต้โดยเฉพาะชาวปากีสถานและชาวอินเดียนิยมใช้เรียกบุคคลอย่างสุภาพ แสดงความนับถือ ก็จะประมาณคำว่า “นายท่าน” ในภาษาไทยนั่นเอง คำนี้ในสมัยอาณานิคมก็เป็นที่นิยมใช้เรียกชาวอังกฤษหรือชาวยุโรปอย่างแพร่หลาย
หลายคนสนใจศึกษางานเขียนของรัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling, 1865 – 1936) อย่างจริงจัง และคงศึกษาได้อย่างหนำใจด้วยเพราะคิปลิงเขียนวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ ไว้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ หรือนวนิยาย ด้านการเขียนนั้นนับว่าคิปลิงเป็นนักเขียนที่มีฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเขาจึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1907
แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สนใจชีวประวัติของเขา โดยเฉพาะส่วนความเป็นตัวตนของคิปลิงที่แลดูจะย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ชีวิตวัยเยาว์ของคิปลิงในอังกฤษที่แทบจะไม่มีความสุขเลยนั้น แทนที่จะทำให้คิปลิงเข้าพวกกับอินเดียในฐานะที่เป็นเหยื่อ ทั้งที่เขาเองก็ประสบกับการตกเป็นเหยื่อมาก่อนที่อังกฤษ เขากลับตัดขาดความเป็นอินเดียของตนและเข้าพวกกับฝ่ายผู้รุกราน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความภักดีต่อค่านิยมของฝ่ายผู้รุกราน

หนังสือเล่มนึ้เหมาะสมสำหรับผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับตัวคิปลิงอย่างแน่นอน เพราะเล่มนี้บอกผู้อ่านหมดว่าคิปลิงได้ทำอะไรไว้บ้าง และมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง อันเป็นการเติมเต็มชีวประวัติของคิปลิงโดยนักเขียนก่อนหน้านี้ เช่น แอนดรูว์ ลีเซ็ตต์ (Andrew Lycett) หรือคิงสลีย์ อามิส (Kingsley Amis)

นอกจากนี้ ข้อมูลอีกมากมายยังเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของอัลเลนที่จะตอบคำถามสำคัญ ที่ว่าคิปลิงได้ข้อมูลเพื่อเขียนงานของตนจากไหน ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลที่คิปลิงได้มาโดยหลักมาจากอินเดีย นี่คือที่มาของสร้อยชื่อหนังสือ “India and the Making of Rudyard Kipling” กล่าวคือ ก็อินเดียนั่นแหละที่เป็นสิ่งเสริมสร้างจินตนาการทางวรรณกรรมของคิปลิง และหนังสือชื่อ “Kim” นี่แหละที่อัลเลนบอกว่าเป็นเล่มที่คิปลิงได้นำประสบการณ์อันรุ่มรวยของตนจากอินเดียออกมาถ่ายทอดได้ในที่สุด

ชีวิตของคิปลิงเป็นอะไรที่อ่านแล้ว ทำให้รู้สึกโศกเศร้าไม่น้อยเลย แม้เขาจะเป็นนักเขียนที่มีความสามารถโดดเด่นมาก ทว่าบางช่วงบางตอนของชีวิตก็เลวร้ายตกต่ำมากเช่นกัน เมื่อคิปลิงถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1936 เถ้าอังคารของเขาถูกนำไปไว้ในมุมเก็บกระดูกของบรรดากวี ที่โบสถ์เวสต์มินสเตอร์ ทว่าอัลเลนบอกเราว่า “ไม่มีบุคคลสำคัญทางวรรณคดีเลยสักคนที่จะยอมลำบากไปเยี่ยมกระดูกเขา”

ประวัติของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย ชื่อเต็มของเขาคือ ชาร์ลส์ โรบิน อัลเลน (Charles Robin Allen) เกิดในเมืองกานปูร์ (Kanpur) สาเหตุที่เกิดในอินเดียเพราะครอบครัวของเขาทำงานในอินเดีย รับราชการภายใต้รัฐบาลอังกฤษมา 6 รุ่น งานเขียนของเขามีมากมาย มีงานเชิงประวัติศาสตร์อินเดียรวมอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

– https://www.amazon.com/Kipling-Sahib-India-Making-Rudyard/dp/1605980900

– https://www.newyorker.com/magazine/2019/07/08/rudyard-kipling-in-america

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *