สื่อใหม่ (New Media) กับการเผยแพร่แนวคิดพุทธสุดโต่ง

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 5 มีนาคม 2562

https://xstremarea.home.blog/2019/03/05/0503/

การแสดงออกถึงความเกลียดชังและการต่อต้านผู้นับถือศาสนาอื่น ของชาวพุทธสุดโต่ง มีทั้งเชิงกายภาพ เชิงความคิดและเชิงวาทกรรม อ่านเพิ่มเติม พุทธสุดโต่ง : ความหมายและการแสดงออก) ซึ่งการแสดงออกเชิงวาทกรรมนี้ มีอยู่ให้เห็นโดยทั่วไป เนื่องจากการเติบโตของสื่อใหม่ (New Media) โดยเฉพาะสื่อสังคม (Social Media) ที่เป็นสื่อหลักในการช่วยแพร่กระจายแนวคิดสุดโต่ง สร้างความเกลียดชังระหว่างคนต่างศาสนา รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกถึงประทุษวาจา (Hate Speech) และอาจนำไปสู่การรวมตัวเพื่อการแสดงความรุนแรงเชิงกายภาพต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามได้อย่างง่ายดาย

สื่อใหม่ที่เป็นช่องทางหลักของการแพร่กระจายแนวคิดพุทธสุดโต่งในประเทศศรีลังกา เมียนมา และประเทศไทย มี 2 ช่องทางหลักคือ เว็บไซต์ และ สื่อสังคม

1.เว็บไซต์ (Website)

กลุ่ม Bodu Bala Sena (BBS / Buddhist Power Force หรือ The Army of Buddhist Power) ของประเทศศรีลังกา และ กลุ่ม 969 ของประเทศเมียนมา มีเว็บไซต์ที่สามารถค้นหาได้จาก google โดยกลุ่ม BBS เข้าถึงได้จาก http://www.bodubalasena.org ซึ่งมีข้อมูลทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม กิจกรรมต่าง ๆ และรายการธรรมะ อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนใหญ่ทั้งข้อความและคลิปวิดีโอเป็นภาษาสิงหล แทบจะไม่มีภาษาอังกฤษเลย สิ่งที่น่าสนใจก็ดี ทั้งข่าวและคลิปวิดีโอ มีปุ่มให้กดแบ่งปัน (Share) ไปยังสื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และกูเกิลพลัสได้เลย (ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงได้แล้วจากประเทศไทย)
สำหรับเว็บไซต์ของกลุ่ม 969 สามารถเข้าถึงได้จาก http://www.969movement.org โดยที่มีข้อมูลภาษาอังกฤษแบบกระชับเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มของตนเอง อย่างไรก็ดี เว็บไซต์นี้ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกตั้งช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 ในประเทศไทย ก็มีเว็บไซต์ของกลุ่มพุทธสุดโต่ง คือ http://www.bknomasjid.com หรือ http://www.isannomasjid.com ซึ่งก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้แล้วเช่นกัน

2. สื่อสังคม (Social Media)

สื่อสังคม ถือว่าเป็นสื่อที่พระสงฆ์และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพุทธสุดโต่ง เลือกใช้เป็นช่องทางหลักในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันทั้งในและต่างประเทศได้ ดังเช่นกรณีของกลุ่ม BBS ใช้สื่อสังคมสื่อสารกับชาวศรีลังกาที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อให้มาสนับสนุนการรณรงค์ของ BBS [1] หรือ กรณีของมหาอภิชาติ (Maha Apichat) พระสงฆ์ชาวไทยที่ใช้เฟซบุ๊กของเขาเรียกร้องให้ผู้ติดตามเผามัสยิด 1 แห่ง เมื่อพระสงฆ์ 1 รูปเสียชีวิต ซึ่งต่อมา เขาก็ถูกจับสึก ในประเทศไทย ก็มีเฟซบุ๊กแฟนเพจ ที่แสดงออกถึงการต่อต้านผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น เพจ “เหนืออีสานไม่เอามัสยิด (@IsanNomasjid) โดยมีผู้กดชื่นชอบ (Like) 15,532 คน และติดตาม (Follow) 16,408 คน (ยอด ณ วันที่ 4 มีนาคม 2562) [2]
สื่อสังคม เป็นช่องทางที่สำคัญในการแพร่กระจายข้อมูล ข่าวสารในกลุ่มพุทธสุดโต่ง เพราะเป็นสื่อที่ผู้ส่งสารสามารถสื่อสารกับผู้รับสารได้โดยตรง และเป็นที่สื่อทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งสารได้ ดังนั้นการใช้สื่อสังคม ก็จะนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด ๆ จนกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ได้ นอกจากนี้ สื่อสังคมยังมีเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเอง หรือ User-Generated Content (UGC) จึงทำให้ผู้ใช้ที่เป็นใครก็ได้สามารถสื่อสารเนื้อหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ตามที่ตนเองเข้าใจและสนใจไปยังสาธารณชน โดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่างๆ ดังเช่นกรณีของพระวีระธุ อาชินที่ใช้เฟซบุ๊กในการเผยแพร่คำเทศน์ที่กระตุ้นความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมโดยเฉพาะชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์ [3] แม้ว่าเฟซบุ๊กของพระวีระธุ อาชิน จะถูกปิดไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 แต่ก็ยังมีวิดีโอและคำเทศน์ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังที่ยังอยู่บนเฟซบุ๊ก (รวมถึงยูทูป) และลูกศิษย์ของเขาจะเผยแพร่ต่อไป [4]

การเติบโตของการใช้งานสื่อสังคม จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการสร้างกระแสพุทธสุดโต่ง รวมไปถึงการขยายผลแนวคิดนี้ ทำให้เกิดการนัดหมายรวมตัวและนำไปสู่ความรุนแรงเชิงกายภาพ หรือ การแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีน้อยนิด หรือความเข้าใจในโลกที่มีน้อยนิด จนนำไปสู่ความรุนแรงเชิงวาทกรรมและประทุษวาจา (Hate Speech) ด้วย

References

[1] Rajapaksha, K. (20XX). Rising Religious Extremism in Post-war Sri Lanka and Its Breeding Cyber-politics. เข้าถึงจาก http://www.Academia.edu (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561).

[2] https://www.facebook.com/IsanNomasjid/ (เข้าถึงเมื่อ 4 มีนาคม 2562) .

[3] Fuller, T. (20 June 2013). Extremism Rises Among Myanmar Buddhists. [online] The New York Times. เข้าถึงจาก https://www.nytimes.com/2013/06/21/world/asia/extremism-rises-among-myanmar-buddhists-wary-of-muslim-minority.html เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2561.

[4] เฟซบุ๊กเผยเอง! ปิดเพจ ‘วีระธุ’ พระพม่า “ขวาสุดโต่ง” แล้ว (2561). เข้าถึงจาก https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_782621 (เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561).

Photo credit :

– Colombo Telegraph https://www.colombotelegraph.com/index.php/bodu-bala-sena-and-the-friday-forum/bodu_bala_sena_maharagama/

– http://blog.irrawaddy.com/2013/07/blog-post_9.html

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *