“The Kite Runner” รู้จักอัฟกานิสถานผ่านโลกของวรรณกรรม (ตอน 1)

โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม

นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“There are a lot of children in Afghanistan, but little childhood”

“มีเด็กจำนวนมากในอัฟกานิสถาน แต่พวกเขานั้นมีช่วงวัยเด็กอันน้อยนิด”

-The Kite Runner, Khaled Husseini-

อัฟกานิสถาน: ภาพเลือนลางระหว่างช่วงวัย

อัฟกานิสถานเคยโด่งดังมาตั้งแต่อดีตนับจากสงครามอัฟกานิสถาน-สหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1979-1989) และโด่งดังอีกครั้งเมื่อเหตุการณ์ 9/11 หลังจากนั้น อัฟกานิสถานเริ่มหายไปกับสายลมแห่งกาลเวลา กอปรกับไม่มีใครอยากนึกถึงเพราะเป็น “ประเทศที่อันตรายระดับต้น ๆ ของโลก” เนื่องจากไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและความปลอดภัย เพราะอยู่ท่ามกลางสมรภูมิสงครามมากว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากกองกำลังตอลิบานเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงอัฟกานิสถานในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2564 ส่งผลให้รัฐบาลหุ่นอัฟกานิสถานสิ้นสุดลงและผู้คนเริ่มลี้ภัยออกจากประเทศ อัฟกานิสถานจึงได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งทั้งในหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ วงเสวนาวิชาการ และอื่นๆ

ปรากฏการณ์ในอัฟกานิสถานครั้งนี้ ชวนผมตั้งคำถามหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “เนื้อแท้ของอัฟกานิสถานมีหน้าตาอย่างไร? ท่ามกลาง “สงครามสื่อ” ผมเริ่มทบทวนและเริ่มนึกถึง “The Kite Runner” หรือ “เด็กเก็บว่าว” ที่ผมเคยอ่านเมื่อหลายสิบปีก่อน วรรณกรรมชิ้นนี้ทรงอิทธิพลต่อหัวใจของผู้อ่านเป็นจำนวนมาก กระแทกได้ถูกจุด ขุดได้ถูกที่ นำเสนอแบบตรงไปตรงมา แฝงอคติ มายา และประสบการณ์จริงของผู้เขียนปะปนกันไป

The Kite Runner เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานผ่านเด็ก 2 คนคือ “อามีร” (Amir) หนุ่มน้อยเชื้อสายปัชตุน (Pashtun) แห่งคาบูล ผู้เป็นลูกหลานของคหบดีและ “ฮัซซาน” (Hassan) หนุ่มน้อยเชื้อสายฮาซาร่า (Hazara) นอกจากนี้ยังมีตัวประกอบอื่นๆ เช่น บาบา (Baba) รอฮีม ข่าน (Rahim Khan) อาลี (Ali) โซราญา (Soraya) โซเฟีย อัครอมี (Sofia Aqrami) เป็นต้น

The Kite Runner อธิบายถึงยุคก่อนและการเข้ามาของกองทัพโซราวี (โซเวียต) รวมถึงการอพยพของผู้คนออกนอกประเทศในสมัยวิกฤติสงครามกลางเมือง การเรืองอำนาจของตอลิบาน 1.0 การใช้ชีวิตของผู้อพยพในประเทศโลกที่สาม การเข้ามาของอเมริกา ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจและรับรู้รายละเอียดบางช่วงตอนไปพร้อมกัน

คอลิด ฮุซัยนีในชีวิตจริง

คอลิด ฮุซัยนี (Khaled Husseini) เป็นนักเขียนระดับแนวหน้าที่แจ้งเกิดในวงการวรรณกรรมหลัง The Kite Runner (2003) งานเขียนชิ้นแรกออกมาโลดเล่นเป็นตัวอักษร เขาเกิดที่กรุงคาบูลเมื่อ 4 มีนาคม 1965 โดยมีเชื้อสายปัชตุนจากฝั่งมารดาและทาจิกจากฝั่งบิดา นัสเสอร์ (Nasser) ผู้เป็นบิดาเคยประจำการอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศในกรุงคาบูล ส่วนมารดาเป็นครูสอนภาษาเปอร์เซียและประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของอัฟกานิสถาน โดยทั้งสามีและภรรยามีรกรากเดิมอยู่ที่เมืองเฮราต (Herat) คอลิด ฮุซัยนีเคยใช้ชีวิตในคาบูลและเรียนหนังสือในวาซิร อักบัร ข่าน (Wazir Akbar Khan) ช่วงวัยเด็ก เขาอ่านวรรณกรรมเปอร์เซียเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนของรูมี (Jalaludeen Rumi) อุมัร คอยยัม (Omar Khayyám) ฮาเฟส (Hafez) และนักเขียนคนอื่น ๆ

ในปีค.ศ. 1970 คอลิด ฮุซัยนีเคยอาศัยในอิหร่านเนื่องจากนัสเสอร์ บิดาได้ย้ายไปประจำการ ณ สถานเอกอัครราชทูตอัฟกานิสถาน ในปีค.ศ. 1976 ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส และกลับมาอัฟกานิสถานอีกครั้งในปีค.ศ. 2003 คอลิด ฮุซัยนีเคยทำงานเป็นอายุรแพทย์ในโรงพยาบาลไกเซอร์ (Kaiser Hospital) มากว่า 10 ปี ซึ่งในช่วงผลิตต้นฉบับ The Kite Runner คอลิด ฮุซัยนีต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ทุกวันเพื่อเขียนหนังสือและไปทำงานตอน 8 โมงเช้าเป็นเวลา 13 เดือน หลังจาก The Kite Runner กลายเป็น “วรรณกรรมขายดี” คอลิด ฮุซัยนีเลือกลาออกจากงานประจำและมายึดอาชีพนักเขียนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม เขาได้ทำงานทางด้านการขับเคลื่อนมนุษยธรรมโดยการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยชาวอัฟกัน ในนามองค์กรที่ตนเองก่อนตั้งซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNHCR ซึ่งชื่อว่า “มูลนิธิคอลิด ฮุซัยนี” (Khaled Hosseini Foundation) นอกจากนี้ คอลิด ฮุซัยนียังมีงานเขียนที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น A Thousand Splendid Suns (2007) ที่พูดถึงสตรี 2 คนที่ชื่อว่า “มาเรียม” และ “ไลลา” ชีวิตอันโหดร้ายของพวกเขาภายใต้ปัญหาเชิงครงสร้างของสังคมอัฟกานิสถาน The Mountains Echoed (2013) ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวชาวนาผู้ยากจนที่ขาย “ปารี” (Pari) ลูกสาวให้กับครอบครัวผู้มีอันจะกินในกรุงคาบูล และ Sea Prayer (2018) ที่พูดถึงผู้อพยพชาวซีเรียและความตายของอลัน กุรดี (Alan Kurdi) ส่วนใหญ่งานเขียนของคอลิด ฮุซัยนีนั้นถูกจัดเป็น “หนังสือขายดีระดับโลก” ปัจจุบัน คอลิด ฮุซัยนีพำนักอยู่ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย แต่งงานกับโรญา (Roya) มีลูก 2 คนคือ ฮาริส (Haris) และฟารอฮฺ (Farah)

โลกของ The Kite Runner

The Kite Runner ตีพิมพ์ครั้งแรกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2003 จำนวน 50,000 เล่มและได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา จนกระทั่งมียอดขายในอเมริกาจำนวน 7 ล้านเล่ม จัดเป็น “หนังสือขายดี” ในอเมริกามากกว่า 2 ปี และมีการตีพิมพ์กว่า 40 ภาษาใน 38 ประเทศ ต่อมาในปีค.ศ. 2007 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม แรงบันดาลที่ทำให้คอลิด ฮุซัยนีผลิตต้นฉบับ The Kite Runner เนื่องจาก “การห้ามแข่งว่าว” ในยุคตอลิบาน 1.0 ด้วยเหตุผลกีฬาชนิดดังกล่าวมีอันตรายต่อร่างกายและชีวิต เพราะการแข่งว่าวในคาบูลไม่ใช่แค่เพียงกีฬา แต่มันเป็นชื่อเสียง เกียรติยศ ซึ่งการแข่งขันทุกครั้งก็จะมีบาดแผล รวมทั้งอันตรายถึงชีวิต

ตอนแรกต้นฉบับเรื่องเล่าขนาดสั้นของเขาถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ ต่อมามีการปรับโครงเรื่องและตรวจสำนวนมากกว่า 3 ครั้งจน The Kite Runner กลายมาเป็นงานวรรณกรรมขายดีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

The Kite Runner กระแทกความรู้สึกอันหดหู่ โหดร้าย บาดลึก ละเอียดอ่อน รวมถึงเรียกน้ำตาของผู้อ่านได้โดยง่าย แต่บางครั้งก็ยิ้มแย้ม บ้างก็หมั่นไส้ บ้างก็หดหู่ราวถูกตบด้วยตัวอักษรจนพลัดหลงไปอยู่ในความเงียบงัน มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครูและเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วหลังกวาดสายตาไปยังบรรทัดถัดไป นอกจากอารมณ์ทั้งหมดแล้ว The Kite Runner ยังแฝงปรัชญา ความเชื่อ โลกแห่งความหลากหลายของผู้คนอัฟกานิสถานไปพร้อมกันด้วยการเสนอแบบตรงๆ โจ่งแจ้ง ซ่อนลึก หักมุม จนต้องยิ้มพลางน้ำตาไหล ถอนหายใจและสะอื้นไปพร้อมกัน

คอลิด ฮุซัยนีได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงและจินตนาการเสริมเพื่อปรุงแต่งให้งานเขียนออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดในฐานะ “เรื่องเล่า” ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเมืองวาซิร อักบัร ข่านที่ตนเองเคยใช้ชีวิต ข้อถกเถียงในงานวรรณกรรมเปอร์เซียที่ตนเองเคยอ่าน ซึมซับจากหนังสือของผู้เป็นแม่ในฐานะครูสอนวรรณกรรมเปอร์เซีย รวมทั้งชีวิตของอามีรที่เป็นนักเขียนและอื่นๆ รวมแล้ว The Kite Runner ถือเป็นวรรณกรรมที่แฝงเร้นอารมณ์อันโหดหิน หดหู่ งงงวย เงียบงัน ปลาบปลื้ม และเหงาหงอยปนเปกันไป

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการทำความรู้จักอัฟกานิสถานผ่านเรื่องเล่าวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลเรื่องหนึ่งของยุคสมัย สัปดาห์หน้าเราจะพาไปรู้จักสังคมและวัฒนธรรมอัฟกันให้ลึกซึ้งผ่านโลกของวรรณกรรมให้มากขึ้นอีกสักนิด จากร่องรอยและรายละเอียดที่ปรากฎในวรรรกรรมเรื่องนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *