พระราชสาสน์ของจักรพรรดิอักบัรแด่พระเจ้าฟิลิปที่สองแห่งสเปน ฟะเตหปุระสีกรี มีนาคม/เมษายน ค.ศ. 1582

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้นฉบับเขียนเป็นภาษาเปอร์เซีย

เมื่อปีคริสตศักราช 1582 สมเด็จพระจักพรรดิอักบัรแห่งราชวงศ์มุฆัลได้ตัดสินใจส่งราชทูต คือ ท่านซัยยิด มูซัฟฟัรและท่านอัลดุลลอฮฺ ข่านให้เดินทางไปยังเมืองโกอาและกรุงลิสบอนพร้อมกับคณะนักบวชเยซูอิต เพื่อถวายพระพรชัยแด่พระเจ้าฟิลิปที่สองแห่งสเปนที่เพิ่งจะได้ขึ้นเถลิงราชเป็นพระเจ้าฟิลิปที่หนึ่งแห่งโปรตุเกส และเพื่อแสดงจุดยืนของรัฐบาลในพระองค์เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการนับถือและเผยแพร่ศาสนา อย่างไรก็ตามการเจริญราชทูตครั้งนี้จำต้องยุติลงกลางคัน เมื่อท่านซัยยิด มูซัฟฟัรได้หลบหนีออกจากคณะเดินทางพร้อมกับพระราชสาสน์ไปยังดินแดนทางตอนใต้ของอินเดียที่อยู่นอกการปกครองของราชวงศ์มุฆัล ทั้งนี้เนื่องด้วยท่านมูซัฟฟัรไม่เห็นด้วยกับแนวคิดและนโยบายทางการศาสนาขององค์พระจักรพรรดิ สุดท้ายจดหมายฉบับนี้ก็ได้ตกไปอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสในเมืองทางตอนใต้ของอินเดีย โดยมีสำเนาของต้นฉบับเก็บรักษาไว้ในหอสมุดของราชวงศ์มุฆัล

แม้ว่าพระราชสาสน์ฉบับนี้จะไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปถึงราชสำนักสเปนและโปรตุเกส แต่เนื้อความของพระราชสาสน์ที่ถูกถ่ายความสู่นานาภาษาในกาลต่อมานั้น ถือเป็นวาทนิพนธ์ชั้นยอดที่แสดงให้เห็นถึงความแยบยลทางการทูตและวิสัยทัศน์กว้างไกลของพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์มุฆัลพระองค์นี้ สาระที่สำคัญของพระราชสาสน์ฉบับนี้คือแนวคิดอันว่าด้วย สันติภาพสากล หรือ Ṣulḥ-i-kul ที่พระองค์ได้รับมาจากนักบวชนิกายซูฟี แนวคิดสันติภาพสากลนี้มองการดำรงอยู่ของนานาศาสนาความเชื่อในโลกนี้ว่า แท้จริงแล้วศาสนาทั้งหลายต่างสอดประสานกลมกลืนกัน หาได้ขัดแย้งกันไม่ พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญต่อการสานสัมพันธไมตรีระหว่างศาสนา การทำความเข้าใจและมีความอดทนอดกลั้นต่อศาสนาและความเชื่อที่แตกต่าง ตลอดการปฏิบัติต่อกันและกันอย่างเคารพและเท่าเทียมในโลกที่แตกต่างหลากหลาย

เนื้อความของพระราชสาสน์ฉบับดังกล่าวสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
ทูลมหาราชแห่งขัณฑสีมาอันเรืองยศและไม่มีวันเสื่อมสลายด้วยความเคารพยิ่ง อันสรวงสวรรค์และพื้นพิภพที่กว้างใหญ่นั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของจักรวาลอันอนันต์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรังสรรค์ขึ้น พระองค์ทรงเป็นพระผู้ชี้นำ พระผู้จัดระเบียบโลกในหมู่มนุษยชาติผ่านปัญญาของบรรดากษัตริย์ผู้เที่ยงแท้และผดุงไว้ด้วยอุปถัมภ์ของเหล่าธรรมิกราช พระองค์ทรงบัญญัติให้สรรพชีวิตที่พระองค์สรรสร้างต้องไปมาหาสู่และสานสัมพันธ์กันด้วยสัญชาติญาณแห่งรักและใจปฏิพัทธ์ ขอน้อมคารวะดวงวิญญาณแห่งเหล่าพระศาสดาและพระอัครสาวกด้วยจิตเคารพอันมิอาจประมาณ ขอพระพรและสันติจงมีแด่ทุกพระองค์ ผู้ซึ่งเคยดำรงชีพอันยังประโยชน์อย่างเหลือคณนา อีกเป็นผู้นำสู่หนทางอันประเสริฐยิ่ง ทั้งโดยคณะและโดยพระองค์เอง

มนุษย์ผู้เลิศด้วยปัญญา ผู้ที่ได้รับแสงแห่งพระผู้เป็นเจ้าและได้รับความสว่างจากรังสีแห่งปัญญาและความรู้ต่างก็รู้แจ้งว่า บนพื้นพิภพที่เป็นดั่งภาพสะท้อนของสรวงสวรรค์ใบนี้ หาได้มีอำนาจอื่นใดที่มีผลานุภาพเหนือความรักไม่ และหาได้มีจริตใดที่ควรค่าแก่การบ่มเพาะไปยิ่งกว่าการกุศล เพราะสันติภาพของโลกและความสมานกลมกลืนของสรรพชีวิตนั้นเกิดขึ้นบนมิตรภาพและการผูกสัมพันธ์ ทั้งสองสิ่งนี้คือพลังที่จะช่วยขจัดความมืดมิดจากดวงจิตของมนุษย์ ด้วยไออุ่นแห่งรัก ด้วยโลกแห่งจิตวิญญาณและด้วยพลานุภาพแห่งปัญญา พลังนี้จะยิ่งกล้าแกร่งขึ้นด้วยการร่วมแรงของเหล่าขัตติยะราช สันติภาพในหมู่กษัตริย์จะนำมาซึ่งสันติภาพของโลกและเหล่าอาณาประชาราษฎร์

เมื่อพิจารณาดังนี้ ด้วยแรงใจทั้งมวลของเรา เราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างและสานสายใยแห่งรัก ความสมานกลมกลืนและสัมพันธภาพในหมู่อาณาประชาราษฏร์ และเหนืออื่นใดสานสัมพันธ์กับบรรดาขัตติยะราชผู้สูงส่ง ผู้ทรงอิสริยะยศยิ่งฟ้าด้วยพรวิเศษแห่งพระผู้เป็นเจ้า ผู้ครองขัณฑสีมานามเลื่องระบือไกล ผู้เห็นแจ้งในพระวจนะศักดิ์สิทธิ์และเผยแผ่คริสตธรรม โดยไม่ปรารถนาคำสรรเสริญหรือชื่อเสียงใด เจตนารมณ์ของเรานั้นเป็นที่รู้จักและยอมรับในหมู่ขัตติยะราช ว่าคือมูลเหตุสำคัญของการสานสัมพันธ์ฉันมิตร กระนั้น เนื่องด้วยภาระอันหนักอึ้งและอุปสรรคสำคัญได้เหนี่ยวรั้งเราทั้งสองจากปฏิสัมพันธ์กันโดยพระองค์ การแลกเปลี่ยนข้อความและราชสาสน์จึงเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดสำหรับการดังกล่าว ผู้มีปัญญาหลักแหลมทั้งปวงต่างก็ยอมรับว่ามันเป็นตัวแทนของคำพูดจากโอษฐ์ได้ดี เราจึงหวังว่าทั้งสองฝ่าจะเปิดช่องทางสำหรับการติดต่อสื่อสารนี้ไว้เสมอ เพื่อที่เราทั้งสองจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจการนานา รวมทั้งความปรารถนาอันน่ายินดีระหว่างกัน

พระผู้ทรงปัญญาคงทรงรู้แจ้งอยู่แล้วว่า ทุกศาสนาและทุกการปกครองต่างก็มีมติยอมรับด้วยเอกฉันท์ในเรื่องรัฐทั้งสอง กล่าวคือ ศาสนาจักรและรัฐฆราวาส – โลกที่มองเห็นและโลกที่มองไม่เห็น – โดยเป็นที่น่าเชื่อถือและพิสูจน์แล้วว่า เมื่อเปรียบกับโลกหน้าแล้ว โลกปัจจุบันนั้นช่างไร้แก่นสาร ความพยายามอันควรแก่การสดุดีของบรรดาปราชญ์แห่งยุคสมัยและกษัตริย์ทุกพระองค์นั้นเป็นไปเพียงเพื่อเยียวยารัฐภายนอกที่กำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย กระนั้นทุกคนก็ยังใช้ชีวิตและเวลาอันมีค่าไปเพื่อครอบครองวัตถุธรรมดาสามัญ มุ่งแสวงหาและลุ่มหลงไปกับความสุขเพลิดเพลินและความกระหายอยากที่ต้องมีวันสูญไป อัลลอฮฺผู้ทรงสูงศักดิ์ การทรงมีอยู่นิรันดร์ของพระองค์สร้างแรงใจให้แก่เราด้วยจิตศรัทธาในพระองค์ กระนั้น แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะได้พิชิตเอาเขตแดนของกษัตริย์ทั้งหลายให้มาอยู่ในอำนาจของเรา การปกครองและผนวกดินแดนที่ใช้สติปัญญาทั้งหมดของเราก็เป็นไปเพื่อนำสวัสดิภาพและความสุขมาสู่อนาประชาราฎร์ทุกหมู่เหล่า อย่างไรก็ตาม – ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ – เป้าหมายสูงสุดในกิจการของเรา ทั้งในเบื้องหน้าและในเบื้องหลัง ก็คือความปรารถนาที่จะได้รับความเห็นชอบจากสวรรค์และรู้แจ้งในสัจธรรม

มนุษย์เรานั้นต่างถูกพันธนาการด้วยเงื่อนแห่งประเพณี อีกด้วยการปฏิบัติสืบตามบิดา บรรพชน ญาติและมิตรสหาย ทุกชนล้วนแต่ยึดมั่นในศาสนาเพียงตามชาติกำเนิดและตามที่ได้ถูกสั่งสอนมาโดยหาได้คิดใคร่ครวญถึงข้อโต้แย้งหรือเหตุผลอื่นใด เช่นนี้เท่ากับสกัดโอกาสของตนที่จะเข้าถึงสัจธรรมอันถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ 

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อสบโอกาสเราจึงนิยมสมาคมด้วยปราชญ์จากนานาศาสนา เพื่อรับประโยชน์จากวจนิพนธ์อันวิจิตรและจากปณิธานอันยิ่งยวดของท่านเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม เหตุที่ภาษาของเรานั้นต่างจากภาษาของพระองค์ เราจึงหวังว่าพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วยให้เราได้สมปีติ ด้วยการส่งสมณะทูตผู้สามารถอธิบายความรู้อันประเสริฐให้แก่เราได้ตามวิถีแห่งปัญญา

เราได้ทราบมาว่า พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อย่างพระเบญจบรรณ [1] พระวรสาร [2] และหนังสือเพลงสดุดี [3] ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียแล้ว หากพระคัมภีร์เหล่านี้สามารถจัดหาได้ในราชอาณาจักรของพระองค์ ไม่ว่าจะแปลแล้วหรือไม่ก็ตาม ขอพระองค์โปรดประทานแก่เรา
ในการเจริญราชไมตรีและผูกสัมพันธ์ในครั้งนี้ เราได้ส่งท่านซัยยีด มูซัฟฟัร ผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันวิเศษ ผู้ภักดีและเป็นที่โปรดปรานของเรามา ท่านผู้นี้จะนำถ้อยคำสำคัญไปกราบทูลต่อหน้าพระพักตร์และเป็นที่ไว้วางพระทัยได้ โปรดทรงพระกรุณาเปิดทางสำหรับสื่อสารโต้ตอบระหว่างกันเสมอ
ขอถวายพระพรแด่พระสาวกแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า
เดือนรอบีอุลเอาวัล ฮิจเราะห์ศักราช 559

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Footnotes :

[1] พระเบญจบรรณ หรือ The Pentateuch คือพระคัมภีร์ 5 ม้วนแรกที่นำมารวมกันเป็นพระคัมภีร์ไบเบิล ประกอบด้วย ปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี และเฉลยธรรมบัญญัติ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างทรงสร้างของพระเจ้า บรรพชนของชนชาติอิสราเอล เรื่องของพระบัญญัติ และพิธีการต่าง ๆ ของชาวอิสราเอล เป็นสำคัญ ศาสนายูดาห์เรียกคัมภีร์ในหมวดนี้ว่า โทราห์ (Torah)

[2] พระวรสาร หรือ The Gospels แปลว่า “ข่าวดี” ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาไทยของชาวคาทอลิก หรือ “ข่าวประเสริฐ” ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาไทยของชาวโปรเตสแตนต์ มีเนื้อหาโดยตรงเกี่ยวกับพระเยซู บรรยายถึงกำเนิด คำเทศนา การตรึงกางเขน และการคืนพระชนม์ พระวรสารในสารบบมีอยู่ 4 เล่ม ในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ คือ พระวรสารนักบุญมัทธิว พระวรสารนักบุญมาระโก พระวรสารนักบุญลูกา และพระวรสารนักบุญยอห์น

[3] หนังสือเพลงสดุดี หรือ Psalms หรือที่เรียกว่า บทเพลงสรรเสริญ เป็นบทสรรเสริญพระเจ้าของกษัตริย์ดาวิดและโมเสส ที่ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม

Photo credit :

Akbar the Great Mogul, 1542-1605 https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Akbar_the_Great_Mogul,_1542-1605_(1917)_(14586703359).jpg

Royal figure with falcon https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Emperor_Akbar,_Los_Angeles_County_Museum_of_Art.jpg

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *