โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/11/14/babri-mosque-ram-temple-case/
ภาพความขัดแย้งในเอเชียใต้ได้ฉายซ้ำให้เราและท่านทั้งหลายเห็นอยู่เป็นประจำ จนบางครั้งหลายคนอาจรู้สึกว่า “ภาพเหล่านี้เริ่มกลายเป็นความเคยชินไปโดยปริยาย” ก่อนหน้านี้หลายคนคงรับรู้ความขัดแย้งในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย หลังจากรัฐบาลนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ผู้นำพรรคภารติยะ ชนะตะ (BJP) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนสถานะของพื้นที่ดังกล่าวผ่านนโยบาย “สันติภาพในแคชเมียร์” ที่พรรค BJP ได้โฆษณาหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในเวลาต่อมา
สำหรับพรรค BJP ถือว่าการจัดการ “สันติภาพในแคชเมียร์” นั้นเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อขอบคุณชาวอินเดียที่ได้โหวตให้ตนได้ทำหน้าที่รัฐบาลในสมัยที่ 2
ทั้งฝ่ายพรรคภารติยะ ชนะตะ (BJP) และพรรคครองเกรสแห่งอินเดีย (INC) ต่างชู “นโยบายสันติภาพในแคชเมียร์” ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019 ไม่ต่างกัน ซึ่งทั้งสองพรรคมีคำสัญญาว่าจะจัดการบาดแผลบริเวณพรมแดนปากีสถานและอินเดีย ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน วิธีการรับมือของพรรคการเมืองอินเดียนั้นมีมาตรการไม่ต่างกันนั่นก็คือ การเข้าไปดูข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญของอินเดียมาตราที่ 370 และ 35A
แต่วิธีการจัดการของ BJP และ INC จะเหมือนกันไหมนั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะรัฐบาลทั้งผู้เห็นแย้งและผู้เห็นต่างร่วมรัฐบาล กระนั้น ภาพที่ชัดที่สุดของ BJP ก็ได้นำเสนอมาแล้วเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา สำหรับพรรค BJP ถือว่าการจัดการ “สันติภาพในแคชเมียร์” นั้นเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อขอบคุณชาวอินเดียที่ได้โหวตให้ตนได้ทำหน้าที่รัฐบาลในสมัยที่ 2
แม้ว่า นโยบายนี้อาจเป็นสันติภาพในมุมมองของรัฐบาลและประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย กระนั้นก็เป็นปัญหาสำหรับชาวแคชเมียร์ที่อยู่ในพื้นที่เนื่องจากตนเองได้สิทธิบางอย่างน้อยกว่าสิทธิเดิมที่ต้องเสียไป จนทำให้อิมราน ข่าน (Imran Khan) ผู้นำปากีสถานประกาศต่อต้านคำสั่งดังกล่าวอย่างถึงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้น เราสามารถสรุปได้ว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ต่าง ๆ เกือบจะทุกภาคส่วนของโลกล้วนมาจากนโยบายของรัฐเป็นหลัก การนำเสนอนโยบายของรัฐจึงเป็นแรงเหวี่ยงต่อสังคมค่อนข้างมาก หากการประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลไปคาบเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนาและอื่น ๆ” จนบ่อยครั้งปัญหาทั่วทุกมุมโลกที่เราพบเห็นมักเกิดจาก “สิ่งเหล่านั้น” เป็น “สารตั้งต้น” และ “น้ำสต๊อก” ขนานดีที่หนุนเชื้อเพลิงแห่งความขัดแย้งให้คุโชนขึ้นเป็นเท่าตัว
บาบรีมัสยิด: แผ่นดินจินตกรรม
อย่างไรก็ตามมัดดารอซะฮ์ในปัจจุบัน มิได้มีหลักสูตรการศึกษาที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่และแนวคิดอุดมการณ์ทางการศึกษาของแต่ละแห่ง อาทิ หลักสูตรการเรียนของมัดดารอซะฮ์ในกลุ่มประเทศตะวันตกก็จะเน้นวิชาทางด้านสามัญ ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ แต่ในกลุ่มประเทศตะวันออกจะเน้นในเรื่องของศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันมีมัดดารอซะฮ์บางแห่งไม่ได้รับการรับรองการศึกษาจากรัฐบาลกลาง เนื่องจากไม่ได้ใช้หลักสูตรกลางในการจัดการเรียนการสอน
ขณะปัญหาจัมมูและแคชเมียร์ยังหลุดไม่พ้นจากห้วงความทรงจำของสังคมอินเดียและประชาคมโลก ปัญหาใหม่ก็ผุดขึ้นมาอีกระลอกในประเทศอินเดีย แม้เรื่องราวของบาบรีมัสยิด (Babri Mosque) จะเป็นประเด็นเก่าแก่และยืดเยื้ออย่างยาวนาน กระนั้นมันกลับ “ฟื้นคืนชีพ” อีกครั้ง หลังการเลือกตั้งอินเดียในปี 2019 เพราะการดำเนินนโยบายนเรนทรา โมดีอยู่ภายใต้แนวคิดสุดโต่งของกลุ่มฮินดูหัวรุนแรง (RSS) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1925 ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้มีอิทธิพลค่อนข้างมากกับโมดี ซึ่งพวกเขากว่า 10 ล้านช่วยโมดีหาเสียงในการเลือกตั้ง RSS จึงเป็นกองหน้าของรัฐบาลโมดีเนื่องจากมีมากกว่า 80,000 สาขาทั่วประเทศอินเดีย
“การปกครองของพรรคการเมืองภายใต้แนวคิดสุดโต่งไม่ว่าจะส่วนไหนของโลก ก็อาจส่งผลและกีดกันสิทธิบางอย่างของต่อผู้เห็นต่างไปโดยปริยาย”
กรณีความขัดแย้งในพื้นที่เมืองอโยธยา (Ayodhya) ทางตอนเหนือของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ของอินเดียนั้นมีชุดความคิดและจริตความเชื่ออยู่ 2 อย่างซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จนส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานผ่านคือ
(1) มุสลิมมองว่า พื้นที่ในเมืองอโยธยาเป็นสถานที่ตั้งของ “บาบรีมัสยิด” นั่นคือ สถานที่ประกอบศาสนกิจมาเป็นเวลายาวนานกว่า 460 ปี ตั้งแต่จักรพรรดิบาบุร (Emperor Babur) แห่งราชวงศ์โมกุล (Mughal) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1528
(2) ชาวฮินดูเชื่อว่า “พื้นที่ในเมืองอโยธยาซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ “บาบรีมัสยิด” นั้นคือ “สถานที่ประสูติของพระราม” ซึ่งจักรพรรดิบาบุรแห่งราชวงศ์โมกุลได้สร้างมัสยิดครอบบนวัดพระรามของชาวฮินดู”
ความเป็นมาของปมขัดแย้ง
– ปี 1528 จักรพรรดิบาบุรแห่งราชวงศ์โมกุลได้ก่อสร้าง “บาบรีมัสยิด”
– ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1949 เนื่องจากมีการพบรูปปั้นพระรามในมัสยิด ส่งผลให้นักเคลื่อนไหวชาวฮินดู (Hindu Activists) ออกมาส่งสัญญาณให้สังคมฮินดูได้เข้าใจว่า “สถานที่แห่งนี้สร้างทับสถานที่ประสูติของพระราม” ส่งผลให้เกิด “ความขัดแย้งเรื่องของพื้นที่”ระหว่างฮินดูและมุสลิม รัฐบาลจึงคลี่คลายความขัดแย้งนี้ด้วยการประกาศให้มุสลิมหยุดใช้สถานที่ดังกล่าวและมุสลิมก็ไม่สามารถเข้าไปละหมาดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
– 1050-1961 มีการอนุญาตให้ชาวฮินดูใช้พื้นที่ดังกล่าวในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
– ปี 1980 กลุ่มวิชวาฮินดูปาริชัด (Vishwa Hindu Parishad) เป็นองค์กรย่อยในสังกัดของพรรคฮินดูนิยม BJP ได้เริ่มรณรงค์เรียกร้องให้ชาวฮินดูออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนสถานที่ประสูติของพระรามในเมืองอโยธยา
– ปี 1990 ท่านแอล.เค. อัดวานี (LK Advani) ผู้นำฝ่ายขวาของพรรค BJP มีการรณรงค์เพื่อก่อสร้างวัดพระรามทับบน “บาบรีมัสยิด”
– วันที่ 6 ธันวาคม 1992 ในสมัยรัฐบาลของท่านปามุลปติ เวงกฏะ นรสิงห์ ราว (P. V. Narasimha Rao) พรรค INC ได้มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวฮินดูออกมาเคลื่อนไหวและทำลายบาบรีมัสยิด ส่งผลให้พลเมืองอินเดียประมาณ 2,000 คนเสียชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
– วันที่ 16 ธันวาคม 1992 รัฐบาลกลางมีการก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว
– ปี 2003 ภายใต้การนำของรัฐบาลอฏัล พิหารี วาชเปยี (Atal Bihari Vajpayee) พรรค BJP นั้น มีอำนาจศาลได้สั่งให้นักโบราณคดีทำการสำรวจพื้นที่ขัดแย้งดังกล่าวและพบว่า “มีซากวัดฮินดูอยู่ภายใต้บาบรีมัสยิด” แต่นักโบราณคดีบางส่วนและชาวมุสลิมก็ยังไม่ปักใจเชื่อในข้อมูลดังกล่าว
– เดือนกันยายน 2010 ภายใต้การนำของรัฐบาลมานโมฮัน สิงห์ (Manmohan Singh) พรรค INC นั้น ผู้พิพากษาของศาลสูงแห่งเมืองอัลลาฮาบัดได้พิจารณาให้ชาวฮินดูและชาวมุสลิมใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งพื้นที่ประมาณเกือบ 7 ไร่ถูกแบ่งให้ “กลุ่มชาวฮินดู” โดยการรับผิดชอบของนิรโมฮี อัครา (Nirmohi Akhara) และรามลาลลา วิราชมัน(Ramlalla Virajman) ส่วนที่เหลือเป็นของ “มุสลิม” ซึ่งรับผิดชอบโดย กลุ่มศูนย์กลางซุนนีย์วากัฟแห่งรัฐอุตตรประเทศ (Sunni Central Wakf Board,UP)
– 9 พฤศจิกายน 2019 ภายใต้การนำของรัฐบาลนเรนทรา โมดี พรรค BJP สมัยที่ 2 ได้มีการประกาศจากศาลสูงของอินเดียได้ตัดสินให้ “ก่อสร้างวัดฮินดูในพื้นที่บาบรีมัสยิด” และ “ให้พื้นที่อีกแปลงสำหรับมุสลิมเป็นการเฉพาะ” (Al-Jazeera 2019)
ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศแห่งเมืองอิสลามาบัดได้สรุปว่า
“การปฏิบัติการณ์ดังกล่าวในประเทศอินเดียชี้ให้เห็นว่า ระบบเซคคิวลาร์ในอินเดียนั้นไม่ได้สร้างความปลอดภัยให้กับชนกลุ่มน้อย ซึ่งพวกเขากลับมีความรู้สึกกลัวในความเชื่อและสถานประกอบศาสนกิจของพวกเขา อินเดียจะต้องปกป้องสิทธิของการมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ สิทธิขึ้นพื้นฐานและสิทธิในพื้นที่ทำกินของประชาชน ทว่าสิทธิทั้งหลายของประชาชนกลับถูกคุกคาม รัฐบาลฮินดูกลับนำให้กลายเป็นฉนวนของความแตกแยกและความรุนแรง”
การจัดการบาดแผลบนแผ่นดินความเชื่อ
ความขัดแย้งในเมืองอโยธยาได้จบลงด้วยการอนุญาตให้ชาวฮินดูสร้างวัดพระรามและชาวมุสลิมจะได้รับที่ดินแปลงอื่นในพื้นที่เมืองอโยธยาประมาณ 12.5 ไร่ ความขัดแย้งดังกล่าวผ่านมาหลายทศวรรษจนท้ายที่สุด ศาลสูงของอินเดียได้วินิจฉัยและตัดสินเมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาว่า “ความขัดแย้งในเมืองอโยธยาได้จบลงด้วยการอนุญาตให้ชาวฮินดูสร้างวัดพระรามและชาวมุสลิมจะได้รับที่ดินแปลงอื่นในพื้นที่เมืองอโยธยาประมาณ 12.5 ไร่”
หลังคำตัดสินของศาลสูง ท่านซาฟัรยับ ญิลานี (Zafarjab Jilani) นักกฎหมายมุสลิมของสำนักงานซุนนีย์วากัฟ (Sunni Waqf Board) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่เห็นด้วยกับการตัดสินดังกล่าว แต่เราจำเป็นต้องเคารพ พวกเราจะปรึกษาหารือกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร”
ส่วนไฟซาน มุสตอฟา (faizan Mustafa) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกฎหมายนัลซาร์ แห่งเมืองไฮเดอร์ราบัด (NALZAR University, Hyderabad) ได้กล่าวว่า “แม้คำตัดสินดังกล่าวจะกลายเป็นข้อถกเถียงในสังคม กระนั้นเจ้าหน้าที่ศาลได้ทำงานเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังอย่างเต็มที่ แม้สังคมจะให้ความเชื่อเรื่องศาสนาหนักกว่าเรื่องหลักนิติธรรมก็ตาม เพราะศาลก็ให้ความเห็นว่า ตนไม่สามารถจัดการกับความเชื่อของชาวอินดูที่พูดว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่เกิดของพระราม เมื่อพวกเขาเชื่ออย่างนั้น พวกเราก็จะต้องยอมรับ”
ไฟซาน มุสตอฟากล่าวทิ้งทายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญของศาสนา แล้วเราจะจัดการความเชื่อได้อย่างไรโดยไม่ให้เป็นฉนวนของความขัดแย้ง นี่คือปัญหาสำคัญของโลกร่วมสมัยที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน” ในขณะที่ราเยส กุมาร (Rajesh Kumar) ได้กล่าวว่า “คำตัดสินดังกล่าวนั้นถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญของนัยนา ลูกสาวอายุ 1 ขวบของตนเอง ชาวฮินดูรอคอยอยู่อย่างยาวนานเพื่อจะสร้างวัดฮินดูในสถานที่ประสูติของพระราม”
หลังคำตัดสินชาวฮินดูได้ออกมาชุมนุมบนท้องถนนของเมืองอโยธยาพร้อมแจก “ลัดดู” ขนมหวานมงคลของอินเดียที่ใช้ในการเฉลิมฉลองวาระสำคัญและแสดงคำพูดกึกก้องร่วมกันว่า “ชัยศรีราม” (जय श्री राम) คำพูดนี้มีเป้าหมายเพื่อสรรเสริญพระรามและแสดงความปลื้มปีติยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้น
บับบู สิงห์ (Pappu Singh) ชาวพิหารได้กล่าวว่า “คำตัดสินดังกล่าวถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของประเทศชาติ ซึ่งข้าพเจ้ารอคอยมาเป็นเวลานาน ท้ายที่สุดคำตัดสินดังกล่าวจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก ปาฏิหาริย์ เพราะคำตัดสินดังกล่าวไม่ต่างจากการชุบชีวิตของพระราม”
ในขณะเดียวกันก็มีชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระรามไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว มุฮัมหมัด ชิบู คาน (Muhammad Shibu Khan) แห่งชุมชนซัยยิดบาดา (Syed Bada) เมืองอโยธยาได้กล่าวว่า “ศาลได้ตัดสินให้สถานที่ดังกล่าวสำหรับก่อสร้างวัดพระราม แต่ศาลไม่ได้ระบุสถานที่ว่า มุสลิมสามารถสร้างมัสยิดได้ที่ไหน หากศาลได้ระบุอย่างชัดเจน ก็คงมีการยอมรับและเคารพได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าดีใจที่ปัญหาดังกล่าวมาถึงจุดสิ้นสุดเสียที หลังจากที่ขัดแย้งมาอย่างยาวนาน”
มีนักศึกษาบางส่วนออกมาต่อต้าน ซึ่งนาบียา ข่าน (Nabiya Khan) ได้กล่าวว่า “วันที่ 6 ธันวาคม 1992 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2019 ถือเป็นวันแห่งความทรงจำสำคัญที่แสดงถึงวันแห่งความตายของระบบเซคคิวลาร์อินเดีย การตัดสินดังกล่าวนั้นไม่มีความยุติธรรม เพราะม็อบชาวฮินดูทำลายบาบรีมัสยิดโดยปราศจากนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ”
มุฮัมหมัด มูซา (Muhammad Musa) ผู้อาวุโส 58 ปีจากชุมชนซากิรนากัร (Zakir Nagar) ได้กล่าวว่า “มัสยิดนั้นเป็นของมุสลิม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตัดสินแล้ว พวกเราก็ต้องยอมรับ เพราะพวกเราอาศัยอยู่ประเทศอินเดียที่ปกครองโดยกลุ่มฮินดูขวาจัดของพรรค BJP มุสลิมจะต้องอยู่อย่างระวังและพยายามหลีกหนีการปะทะ เพราะการปะทะไม่ได้มีประโยชน์อะไรนอกจากการนองเลือดและสร้างบาดแผลให้กับประเทศ”
ไม่กี่วันก่อการประกาศ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีได้เพิ่มกองกำลังเจ้าหน้าที่ในเมืองอโยธยาเพื่อป้องกันเหตุบานปลายและประกาศหยุดโรงเรียนเพื่อป้องกันการปะทะ ระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้ คณะกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลนั้นจะต้องหาวิธีการและวางแผนเพื่อก่อสร้างวัดพระรามในสถานที่ดังกล่าว นอกจากนี้คณะกรรมการของทั้งสองศาสนามีการไกล่เกลี่ยและหาทางออกความขัดแย้งเรื่องนี้ระหว่างกันมาอย่างยาวนานเพื่อไม่ให้คำตัดสินนั้นบานปลายและนองเลือด
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีก็ได้ภูมิใจกับคำตัดสินของศาลที่ทำหน้าที่มาอย่างยาวนาน ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “คำตัดสินดังกล่าวนั้นเป็นทางออกให้สังคมที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัญหาจะจบลงด้วยการให้ทุกคนยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
อนาคตของพหุสังคมอินเดีย
แน่นอน ประเด็นความขัดแย้งในเมืองอโยธยาก็เป็นอีกหนึ่งในคำสัญญาของรัฐบาลโมดี สังกัดพรรค BJP ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019 เพื่อขอคะแนนเสียงจากพลเมืองชาวอินดู เมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง รัฐบาลนเรนทรา โมดีได้รับคะแนนสนับสนุนอย่างมากมายประมาณ 303 ที่นั่งจาก 543 ประการแรกที่โมดีจัดการเพื่อตอบสนองต่อคะแนนเสียงของตนเองหลังจากเป็นรัฐบาลในสมัยที่สองก็คือ (1) ปัญหาในรัฐจัมมูและแคชเมียร์และ (2) ปัญหาในเมืองอโยธยา ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มฮินดูสุดโต่งทั้งสิ้น ซึ่งอาจบานปลายหรือสงบนิ่งก็อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ รอบข้าง
อย่างไรก็ตาม ไม่มีพื้นที่แห่งไหนบนโลกนี้ที่ไร้ความขัดแย้ง กระนั้น พื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าวอาจจบลงโดยไร้ความรุนแรงหรือบานปลายก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและสังคมว่าจะเดินหน้าไปด้วยกันอย่างไร ความเข้าใจของผู้คนในสังคมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสุมไฟความชังหรือลดความตรึงเครียด แต่สันติภาพก็อาจอยู่ไม่ไกลหากเรามีการพูดคุยระหว่างกันมากขึ้น
ผู้เขียนก็หวังให้เป็นเช่นนั้น
References
– Al-Jazeera. (2019). Timeline: Babri mosque-Ram temple case. November 9, 2019. Retrieved November 12, 2019, from https://www.aljazeera.com/news/2019/11/timeline-babri-mosque-ram-temple-case-
– Bilal Kuchay and Akash Bisht. (2019). Ayodhya verdict: Indian top court gives disputed site to Hindus. Al-Jazeera. November 9, 2019. Retrieved November 12, 2019, from https://www.aljazeera.com/news/2019/11/babri-mosque-case-indian-top-court-disputed-site-hindus
– Hartosh Singh Bal. (2019). The Transformation of India Is Nearly Complete. The New York Times November 11, 2019. Retrieved November 12, 2019, from https://www.nytimes.com/2019/11/11/opinion/india-ayodhya-temple-ruling.html