มองการเมืองโปรตุเกส ผ่านการ์ตูนล้อการเมืองโดย Bordalo ที่ Museu Bordalo Pinheiro

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และ

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนึ่งในความตั้งใจจากการเดินทางในโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยในครั้งนี้ คือการไปเยือนพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก ๆ ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งที่ลิสบอนนั้น อาจารย์ที่ The Centre for Research in Anthropology (CRIA) แห่ง University Institute of Lisbon ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเจ้าภาพของโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยในประเทศโปรตุเกส แนะนำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับ Museu Bordalo Pinheiro และแถมยังนัดหมายให้ได้พบกับคุณ João Alpuim Botelho ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อีกด้วย จากการสืบค้นข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า ฮาฟาเอล บอร์ดาโล บินเยโร่ (Rafael Bordalo Pinheiro) (1846 – 1905) เป็นบุคคลสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมของโปรตุเกสในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 มีชื่อเสียงจากการวาดภาพการ์ตูนล้อการเมือง

ประวัติบอร์ดาโล

คุณ João Alpuim Botelho ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Museu Bordalo Pinheiro เล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า บอร์ดาโลเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีพ่อและน้องชายทำงานศิลปะด้านภาพวาด เขาไม่ได้รับการศึกษาด้านศิลปะมาเลย เขาลองทำงานวาดรูปตามแบบพ่อและน้องชายแล้วพบว่า นี่ไม่ใช่เส้นทางของเขา ด้วยความที่เขาเป็นคนตลกและมีจิตวิญญาณด้านการแสดง เขาเลยเบนความสนใจและงานมาที่การวาดภาพการ์ตูนล้อเลียน (Caricature) โดยเริ่มจากวาดภาพในแผ่นปลิวหรือใบปลิวต่าง ๆ ก่อน
ฮาฟาเอล บอร์ดาโล บินเยโร่ (Rafael Bordalo Pinheiro)
บอร์ดาโล กับการ์ตูนล้อเลียนทางการเมือง
แม้ว่าบอร์ดาโลจะไม่ใช่คนวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนคนแรกของโปรตุเกส แต่สิ่งที่มั่นใจได้ก็คือ เขาเป็นคนแรกที่อุทิศตัวเองให้กับงานแบบนี้ เขาได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือพิมพ์ที่มาจากลอนดอนหรือฝรั่งเศส ซึ่งงานชิ้นไหนที่ได้รับแรงบันดาลใจมา ก็จะเขียนชัดเจนในผลงานเลยว่า มาจากที่ไหน… เป็นคนที่เปิดเผยและยอมรับความจริงเลยนะเนี่ย ถ้าสมัยนี้ก็คงเรียกว่าเป็นการอ้างอิงแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ
ตัวอย่างภาพวาดและการระบุที่มาของแรงบันดาลใจ
บอร์ดาโลเป็น Self-publisher เพระทำหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารขึ้นมาเองเพื่อวาดการ์ตูนล้อเลียนตามที่เขาอยากทำ การ์ตูนล้อเลียนของเขาจะเน้นเรื่องการเมืองทั้งเสียดสีหรือต่อสู้กับราชวงศ์ (ระบบกษัตริย์) และรัฐบาลในยุคต่าง ๆ เพราะ บอร์ดาโลมีแนวคิดแบบสาธารณรัฐ – รัฐเป็นของประชาชน (Republic)
แล้วเขาเคยมีปัญหาบ้างไหม…นี่คงเป็นคำถามในใจหลายคน รวมถึงตัวเราเองด้วย แหม ก็เล่นใหญ่ซะขนาดนั้น คุณ João บอกว่า ก็ตอบไม่ได้แน่ชัดว่าทำไมเขาไม่เคยมีปัญหา แต่มีความเป็นไปได้ใน 2 ประเด็นคือ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้น เขา “ไม่เคย” ถูกจับเลย แต่อาจจะเคยถูกปิดหนังสือพิมพ์ไปบ้าง และจึงนำไปสู่ประเด็นที่สอง ก็คือก่อนจะตีพิมพ์อะไร เขาจะคิดให้รอบคอบว่าจะเสียดสีหรือกระทบกระเทียบอย่างไร ไม่ให้ถูกจับ …นี่แหล่ะศิลปินที่ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมืออย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดความคิดของตัวเอง คุณ João เล่าเสริมว่า บอร์ดาโลมักจะต่อต้านรัฐบาลและคนที่อยู่ตรงกันข้าม (ทางความคิด) ของเขา เพราะเขาจะเชื่อ “จิตสำนึก” ของเขาเท่านั้น
แต่ที่สำคัญสุดก็คงเป็นมุมมองของผู้ที่ถูกเสียดสี พวกเขาเข้าใจว่า บอร์ดาโลวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงคิดเห็นในประเด็นสังคม แต่ไม่ได้ตั้งตัวเป็น “ศัตรูหรือขั้วตรงข้าม” ดังนั้นพวกเขาไม่มองว่าบอร์ดาโลเป็นภัยต่อพวกเขา และถ้ากษัตริย์ทำเรื่องดี ๆ บอร์ดาโลก็พูดถึงในทางที่ดีเช่นกัน
คุณ João ยังอธิบายเพิ่มว่า ชิ้นงานของบอร์ดาโลจะมีตัวเขาอยู่ในงานด้วยเสมอ ๆ เพราะเขาต้องการมีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องหรือเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้น หรือทำให้ตัวเองเป็นตัวตลก โดยเฉพาะงานช่วงแรก ๆ ของเขา เช่นการ์ตูนเล่าชีวิตการทำงานในโรงพิมพ์ หรือการเดินทางของเขาที่ไปประเทศบราซิล
ตัวอย่างชิ้นงานที่มีตัวเองในภาพวาด
ตัวอย่างชิ้นงานที่มีตัวเองในภาพวาด
ความตั้งใจและความว่องไวในการทำงานของบอร์ดาโล เห็นได้ชัดจากผลงานชิ้นหนึ่ง ที่เป็นภาพวาดงานเลี้ยงมื้อค่ำที่สำคัญ ซึ่งงานจัดขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 1885 เขาอยู่ในงานและวาดภาพงานเลี้ยงเสร็จในเวลา 23.30 น. ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในเช้าวันถัดไป (1 ตุลาคม 1885) … งานชิ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะในด้านฝีมือในการวาดภาพและหลักการของความเป็นนักข่าวจริง ๆ
สะท้อนเรื่องอัจฉริยะและหลักการนักข่าว
สะท้อนเรื่องอัจฉริยะและหลักการนักข่าว
ถ้าเป็นยุคนี้ บอร์ดาโลก็คือเซเลปคนหนึ่งในสังคม เพราะเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเป็นที่รักของหลาย ๆ คน (แม้กระทั่งคนที่เขาวิพากษ์วิจารณ์) ในการจัดแสดงมีภาพถ่ายสำคัญอยู่หนึ่งภาพ ซึ่งคุณ João เล่าประวัติศาสตร์ของภาพนี้ว่า ในช่วงปลายชีวิตของบอร์ดาโล มีการจัดงานเลี้ยงใหญ่ให้กับเขาที่โรงละครแห่งหนึ่ง มีการเชิญนักการเมืองที่เขาเขียน/วาดถึงมาร่วมงาน และทุกคนก็เต็มใจมาร่วมงาน เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้คิดว่าบอร์ดาโลเป็นศัตรู จนบอร์ดาโลบอกว่า เขารู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่คนเหล่านี้ดีกับเขา จนเขาไม่กล้าจะวาดถึงอีกแล้ว … แต่ก็นั่นแหล่ะ บอร์ดาโลก็ยังวาดการ์ตูนวิพากษ์และเสียดสีอยู่ดี … ที่แสบกว่าก็คือ มีการขายบัตรให้คนทั่วไป เข้ามา “ดู” การทานอาหารในมื้อนั้น โดยจะนั่งดูจากชั้น 2 และ 3 ของโรงละคร
เรื่องขายบัตรให้คนมาดูงานเลี้ยง

เสียดสีแบบลึกซึ้ง

ในช่วงที่เราไปเยือนนั้น พิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงานของบอร์ดาโลในธีม “Bordalo à Mesa (Bordalo at the table)” ซึ่งมีหลากหลายชิ้น ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างมาเป็นน้ำจิ้มนะคะ
ชิ้นแรก เป็นงานวิพากษ์รัฐบาลที่นำรัฐมนตรีและผู้ช่วยทั้งหลายไปเข้าเฝ้ากษัตริย์และพี่ชายของกษัตริย์ โดยเขาวาดภาพหัวผักกาด (Radish) แทนตัวรัฐมนตรีต่าง ๆ เพราะคำว่า Radish ในภาษาโปรตุเกสคือ “โง่” ส่วนภาพของกษัตริย์ในทุกภาพที่เขาวาดจะไม่เห็นใบหน้าเลย นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เขารอดมาได้เพราะเขาไม่ได้วิพากษ์คนในคนหนึ่งโดยตรง แต่หมายถึงระบอบกษัตริย์ในภาพรวม และการไม่เห็นใบหน้าของกษัตริย์นั้น อาจจะเป็นความจงใจที่จะถอดถอนอัตลักษณ์ของกษัตริย์ในสื่ออีกด้วย นอกจากนี้ ทุกครั้งที่บอร์ดาโลวาดพี่ชายของกษัตริย์ที่ยืนเคียงข้าง เขาจะวาดให้เห็นแค่ครึ่งล่าง เพื่อจะสื่อความหมายว่าคน ๆ นี้ไม่สำคัญ คุณ João อธิบายเสริม
หัวผักกาด
ภาพนี้เป็นการวิพากษ์เรื่องงบประมาณของรัฐบาล แสดงผ่านโต๊ะอาหาร ที่มีนักการเมืองกำลังกิน “อาหาร” กันอย่างเอร็ดอร่อย แถมบนโต๊ะยังมีหนี้ การขาดดุลอยู่ด้วย โดยมีพลเมืองเป็นคนแบกรับและลากโต๊ะอาหารนี้
งบประมาณ
ภาพนี้ พูดถึงเรื่องการเลือกตั้ง ที่วาดให้นักการเมืองแต่งกายเป็นหญิง เป็นแม่ครัว ที่กำลัง “ทำกับข้าว” (Cooking) อะไรบางอย่างอยู่ เรารู้ว่าพวกเรากำลังพยายาม “ทำอะไร” แต่เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าพวกเขา “ผสมอะไร” ไปในหม้อมนั้นบ้าง รู้แค่ว่าสิ่งที่ทำไม่น่าจะเป็นเรื่องดี (หรืออาหารที่ดี)
ทำกับข้าว

คนตัวเล็กของบอร์ดาโล กับการวิพากษ์ระบอบกษัตริย์

บอร์ดาโลสร้างตัวละครแทนพลเมืองของโปรตุเกสชายหญิงไว้ 2 ตัว คือ Zé Povinho (ชาย) และ Maria da paciência (หญิง) … แต่เราขอเน้นเล่าที่ Zé Povinho เพราะตอนนี้มีการจัดนิทรรศการชั่วคราว ในหัวข้อ “Zé Povinho, Identity and Politics” เพื่อเตรียมฉลอง 150 ปีตัวละครนี้ในปีหน้า (ค.ศ. 2025)
แค่ชื่อ Zé Povinho ก็ตั้งใจแล้ว… เพราะแปลว่าคนตัวเล็ก (Little People) และ Ze ก็เป็นชื่อสามัญของชายชาวโปรตุเกส มีความเป็นแมสมาก ๆ ดังนั้น Zé Povinho คือตัวแทนของพลเมืองโปรตุเกสที่แท้ทรู อัตลักษณ์ของ Zé ในงานของเบอร์ดาโลมีทั้งพลเมืองที่เป็นผู้ถูกกระทำ ยอมรับสภาพความเป็นไป หรือบางครั้งก็เพิกเฉยต่อสิ่งรอบข้าง จนไปสู่ภาพของพลเมืองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ สิ่งที่บอร์ดาโลสื่อสารผ่าน Zé นั้น คุณ João อธิบายว่า เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้ชาวโปรตุเกสในช่วงเวลานั้นมองเห็นตัวเอง และต้องการสร้างความเป็นพลเมืองตื่นรู้ให้กับชาวโปรตุเกส
ภาพนี้เป็นครั้งแรกที่ Zé ปรากฏตัวในงานของบอร์ดาโล ซึ่งเขาวาดภาพนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของชาวโปรตุเกสที่ไปโบสถ์เพื่อขอพรจาก St. Antony (นักบุญคนสำคัญคนหนึ่ง) และหน้าโบสถ์ก็จะมีเด็ก ๆ มาขอเงินโดยบอกว่าจะเอาไปทำบุญให้กับ St. Antony … บอร์ดาโลก็เทียบเรื่องนี้กับการทำงานของรัฐบาล ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (เด็ก ๆ หน้าโบสถ์) มาขอเงินจาก Zé (พลเมือง) เพื่อนำไปให้นายกรัฐมนตรี ที่อุ้มกษัตริย์อยู่ในอ้อมกอด (St. Antony) ก็เหมือนกับว่าเอาเงินไปให้รัฐบาลสนับสนุนระบอบกษัตริย์นั่นเอง
การปรากฏตัวครั้งแรกของ Ze
ภาพนี้ เป็นงานเฉลิมฉลองวัน St. Antony ที่มีการกระโดดข้ามกองไฟ แต่คนที่กระโดดคือนักการเมือง และสิ่งที่ถูกเผาในกองไฟก็คือประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญ อนาคตของสาธารณรัฐ เสรีภาพของสื่อ เสรีภาพของการยื่นอุทธรณ์ เป็นต้น แต่ Zé (พลเมือง) ก็ยังร้องเต้นระบำอย่างมีความสุข (และไม่สนใจ)
งานวันฉลอง St. Antony
ภาพนี้ บอร์ดาโลวิพากษ์ความเพิกเฉยของทั้งพลเมืองและกษัตริย์ … ความสงสัยก็บังเกิด แล้วรู้ได้ไงว่าอีกคนคือกษัตริย์ … คุณ João บอกว่า ถ้าคนที่ติดตามผลงานของบอร์ดาโล จะรู้ทันทีด้วยบุคลิกลักษณะ (และเราก็คงยังจำได้ว่า ถ้าเขาวาดถึงกษัตริย์ เขาจะไม่วาดใบหน้า หรือไม่ให้เห็นใบหน้าเลย)
ความเพิกเฉยทั้งพลเมืองและกษัตริย์
ภาพถัดมายิ่งแสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยของพลเมืองที่จะเป็นฐานที่ดีในการสนับสนุนระบอบกษัตริย์ โดยบอร์ดาโลตั้งคำถามสั้น ๆ ว่า “levantar-se-ha?” (Will you get up? คุณจะลุกขึ้นไหม) … ลองคิดดูสิว่า ถ้า Zé ลุกขึ้นยืน จะเกิดอะไรขึ้นกับกษัตริย์ทั้งหลายที่ยืนบนตัวเขา
Will you get up?
ภาพนี้ยังแสดงให้เห็นว่า Zé นอนหลับ โดยที่มีบ่อน้ำขุดเหรียญเงินออกจากกระเป๋าของเขา หน้าของเหรียญคือใบหน้าของนักการเมือง เงินของ Zé ก็เทไปที่สวน ที่มีผักและดอกไม้เป็นใบหน้าของราชวงศ์ … คุณ João อธิบายว่า นี่คือการบอกพลเมืองว่า พลเมืองทุกคนคือคนที่เลี้ยงดูระบอบกษัตริย์
พลเมืองเลี้ยงดู king
ในช่วงหลัง บอร์ดาโลก็เสนอภาพของ Zé ในบุคลิกของพลเมืองผู้ตื่นรู้ ให้เห็นว่าพลเมืองจะมีลักษณะอย่างไร ถ้าประเทศเป็นสาธารณรัฐ หรือไม่ยอมรับระบอบกษัตริย์หรือนักการเมือง ดังเช่น 2 ภาพด้านล่างนี้
Ze ในฐานะพลเมืองผู้ตื่นรู้
พลเมืองเลี้ยงดู king
ภาพสุดท้ายในนิทรรศการชุดนี้คือ ภาพ Sempre a Espera (Always Waiting) คือภาพของ Zé ที่เป็นความหวังของบอร์ดาโล ว่าเขายังรอคอยให้พลเมืองลุกขึ้นยืนเพื่อตัวเองอยู่
Always waiting
คุณ João ไขความกระจ่างเกี่ยวกับ Zé ของบอร์ดาโล ว่าไม่ใช่การเสียดสีหรือวิพากษ์พลเมืองของประเทศโดยตรง แต่เขาต้องการที่จะให้ Zé เป็น “กระจกสะท้อน” ความเป็นไปในสังคม เขาอยากให้พลเมืองของโปรตุเกสเห็นภาพของเขาแล้วคิด และเรียกร้องในสิทธิของตัวเองให้มากขึ้น

บอร์ดาโลกับคดีความ

ในที่สุด บอร์ดาโลก็ต้องขึ้นศาลจนได้ เพราะไปวาดภาพล้อเลียนเหมือนกับภาพ The Last Supper เลยโดนทางโบสถ์ฟ้องร้อง แต่สุดท้ายศาลก็ตัดสินว่าเขาไม่ผิดอะไร รอดไปได้… แล้วไงต่อ … วาดอีกรูปสิคะ เป็นรูปเขากับคณะผู้พิพากษา จะสื่อประมาณว่า ฉันไม่กลัวเธอหรอกนะ (คุณ João บอก)
บอร์ดาโล กับคดีความ
บอร์ดาโล กับคดีความ

บอร์ดาโล ในฐานะนักเซรามิค

อีกด้านของบอร์ดาโล คือการเป็นนักเซรามิค เขาเปิดโรงงานทำเซรามิคขนาดใหญ่ ที่ส่งผลในทางบวกต่อประเทศ นี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุที่ทำให้กษัตริย์ของโปรตุเกสชื่นชอบบอร์ดาโล ถึงขนาดซื้อผลงานชิ้นพิเศษของบอร์ดาโลที่เขาทำขึ้นเพื่อหาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานในโรงงาน หรืออีกชิ้นเป็นเซรามิคตั้งโชว์ที่เขาผลิตขึ้นเพื่อขอบคุณนายธนาคารที่คอยสนับสนุนเขา ด้านบนเป็นรูปปั้นสิงโตที่โดนงูกัด คุณ João อธิบายว่า สิงโตสื่อถึงตัวเขาที่โดน งู (คนที่ไม่ชอบเขา) ทำร้าย แต่เขาก็รอดมาได้
เรื่องโรงงานเซรามิคก็มีความพิเศษ เขาจะสนใจที่งานคราฟท์เชิงศิลปะเป็นหลัก จนพนักงานที่ดูแลโรงงานต้องกำหนดว่าเขาจะออกแบบผลงานได้ไม่เกิน 200 ชิ้นต่อปี งานเซรามิคของเขาจะมีความหลากหลายสไตล์และรูปแบบ ขึ้นอยู่กับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากการเดินทางของเขา ผลงานที่โชว์ในพิพิธภัณฑ์ก็มีตั้งแต่งานกระเบื้อง เครื่องประดับตกแต่งบ้านขนาดใหญ่และเล็ก โรงงานเซรามิคของเขาก็ยังเปิดทำการมาจนทุกวันนี้

ผลกระทบของบอร์ดาโลกับสังคม

งานของบอร์ดาโลมีมากมายขนาดนี้ และมีจุดยืนในการส่งสารที่ชัดเจนกับคนในสังคม… คำถามที่ตามมาคือ แล้วมันได้ผลไหม…คุณ João บอกว่า บอร์ดาโลถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งต่อการล้มของระบอบกษัตริย์ในโปรตุเกส สิ่งที่เขาพยายามสื่อสารผ่านความตลกขบขัน เสียดสี ล้อเลียนต่าง ๆ ได้บ่มเพาะให้ประชาชนได้คิด และตระหนักถึงพลังของตนเอง แม้ว่าความพยายามของเขาเป็นผลอย่างช้า ๆ ดังที่เขาสื่อสารในภาพของ Zé ว่า ยังคงรอคอย (Always waiting) ส่วนตัวละคร Zé เอง ก็ยังมีความสำคัญมาจนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่ทำให้งานของบอร์ดาโลมีพลังและขบขัน น่าจะมาจากตัวตนของเขาเองที่เป็นตนตลก ถ้าในเชิงวาทศาสตร์ ก็คงบอกว่า Ethos ของเขาชัดเจนมาก และส่งผ่านมายังงานทุกชิ้น ประกอบกับความเชื่อทางการเมืองที่แน่วแน่ และเลือกที่จะใช้ศิลปะ (การวาดภาพล้อเลียน) อย่างชาญฉลาดในการสื่อสารกับทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายสาธารณรัฐ หรือแม้กระทั่งพลเมืองทั่วไปที่ยังนิ่งนอนใจ เพิกเฉย หรือเป็นผู้ถูกกระทำจากระบอบกษัตริย์ เพื่อส่งเสริมแนวคิดพลเมืองผู้ตื่นรู้ การเรียกร้องสิทธิของตนเอง จนไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของโปรตุเกส
สิ่งที่น่าสนใจตามมาก็คือ เหตุใดสมัยนั้นจึงยอมรับ รับฟังและเคารพมุมมองและเสียงที่แตกต่าง มากกว่าทุกวันนี้ ซึ่งคุณ João ยังบอกเองเลยว่า สิ่งที่บอร์ดาโลทำตอนนั้น คงจะยากที่จะทำในเวลานี้ ตอนนี้กลายเป็นว่าเรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกน้อยกว่าช่วงเวลานั้นเสียอีก … นั่นสินะ ทำไมเราถึงสูญเสียสิ่งนี้ไปได้หล่ะ…ถ้าเป็นทุกวันนี้ บอร์ดาโลคงขึ้นศาลไม่เว้นแต่ละวันแน่นอน
I came across Museu Bordalo Pinheiro through the personal connection of a professor at The Centre for Research in Anthropology (CRIA), ISCTE – University Institute of Lisbon, who connected me to Mr. João Alpuim Botelho – the Museum’s director. So, I was fortunate to have João walking me through Bordalo’s life and works during my visit.
Museu Bordalo Pinheiro is a ‘good-sized’ museum, but well contained with diversified objects related to Bordalo’s life and works. João was kindly explained in details about Bordalo and every single piece of his works exhibited there. Though Bordalo was not the first caricature artist in Portugal, but he was the one who devoted himself on caricature and political satire comics. Visitors, not only get to know Bordalo as artist, designer, and ceramist, but also get a glimpse of Portuguese politics during the 19th century.
I got to know Zé or little people, who was one of the key characters in Bordalo’s works through the temporary exhibition titled “Zé Povinho, Identity and Politics”. Bordalo created Zé to represent Portuguese publics as victim, submissive, ignorance people. However, Bordalo tried to show Zé as awaken public to fight for himself. Zé is a mirror of Portugese publics to see themselves and to realise their own powers in the society. Zé will celebrate the 150th anniversary in 2025.
Personally, I find that his ‘ethos’ or true identity as a powerful, but funny person, is the key contribution to the success and popularity of his caricature and comics. Most of his works reflect his creativity and wit in expressing his own idea, political standpoints, thoughts and opinions to the public. So, did his effort have any impact on Portuguese politics? According to João, Bodalo was one of the influential persons in overthrowing the Monarchy, leading to the new chapter on Portugal’s political history.
João Alpuim Botelho ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Museu Bordalo Pinheiro และผู้เขียน

บทความนี้เป็นประสบการณ์จากการเดินทางในฐานะนักวิจัยแลกเปลี่ยน ภายใต้โครงการ Marie Curie Research and Innovation Staff Exchange scheme within the H2020 Programme (LABOUR Project)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *