GANDHI AND CHURCHILL: THE EPIC RIVALRY THAT DESTROYED AN EMPIRE AND FORGED OUR AGE

โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครั้งหนึ่ง เชอร์ วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) ผู้มีฉายาว่า “บริติช บูลด็อก” (British Bulldog) เคยเรียกมหาตมา คานธีว่า “ผู้บำเพ็ญตบะเปลือยครึ่งตัว” (half-naked fakir) อันสื่อให้เห็นไม่น้อยเลยว่า ทั้งสองมาจากโลกที่แตกต่างกันมาก อาจกล่าวได้ด้วยว่า ปรัชญาและการดำเนินชีวิตของทั้งสองแทบอยู่คนละฝั่งกันโดยสิ้นเชิงเลยก็ว่าได้ ขณะที่คานธีต้องการให้อินเดียเป็นอิสระจากบริติชราช แต่เชอร์ชิลดื้อดึงไม่ยอมให้สถานภาพเช่นนั้นแก่อินเดีย

ในหนังสือ “GANDHI AND CHURCHILL: THE EPIC RIVALRY THAT DESTROYED AN EMPIRE AND FORGED OUR AGE” เล่มนี้ อาเธอร์ เฮอร์แมน (Arthur Herman) นักประวัติศาสตร์ผู้เคยสังกัดหลายองค์กรสำคัญ และเคยผลิตผลงานทางวิชาการมาแล้วจำนวนมาก ได้นำเสนอเรื่องราวที่เกินกว่าเพียงการพรรณนาชีวประวัติของทั้งสอง 

หนังสือเล่มนี้มีสาระสำคัญมากมาย แต่ที่ชอบมากมีอยู่ 2 ประเด็น คือ (1) ความขัดแย้งสำคัญระหว่างคานธีกับเชอร์ชิลเป็นเรื่องศาสนา และ (2) เราไม่อาจเข้าใจชีวิตการเมืองของเชอร์ชิลได้ หากไม่เข้าใจอิทธิพลของคานธีที่มีต่อเขา

ถ้าจะขยายความเรื่องแรกก็คือ คานธีมองว่าความประสงค์ของตนอิงอยู่กับความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณ ที่ซึ่งประวัติศาสตร์และวัตถุสิ่งของใด ๆ หรือแม้แต่ร่างกายของคานธีเองไม่มีความหมายอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม เชอร์ชิลกลับมองว่า ความหมายของชีวิตคือสิ่งที่ “ได้รับการทดสอบในขนบทางโลกและมนุษยนิยมที่ได้รับการทดสอบโดยประวัติศาสตร์และความขัดแย้งของมนุษย์ชั่วเวลาหลายศตวรรษ” หากคานธียึดมั่นว่า เสรีภาพคือการบรรลุขั้นสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า เชอร์ชิลก็ยึดมั่นว่า เสรีภาพเป็นผลผลิตจากการดิ้นรนต่อสู้ เป็นการบรรลุขั้นสูงสุดของมนุษย์

สำหรับเรื่องที่สอง เฮอร์แมนพาเราย้อนกลับไปดูช่วงเวลาสำคัญของการเมืองอังกฤษและยุโรป แม้เชอร์ชิลจะมีความโดดเด่นทางการเมืองในทศวรรษ 1930 เพราะเขาเตือนอังกฤษถึงภยันตรายของนาซี แต่เชอร์ชิลก็มิได้เป็นที่ยอมรับในหมู่นักการเมืองอนุรักษนิยม เชอร์ชิลไม่มีอำนาจ ที่ทำได้ในเวลานั้นมีเพียงใช้วาทศิลป์และทักษะการเขียนอันน่าเกรงขามต่อกรกับกลุ่มที่ยอมตามฮิตเลอร์ แล้วทำไมเชอร์ชิลไม่เป็นที่ยอมรับของพวกกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีอำนาจในสมัยนั้นเล่า คำตอบของเฮอร์แมนคืออินเดียนั่นเอง เราจะไม่มีทางเข้าใจเส้นทางการเมืองของเชอร์ชิลได้เลย หากเราไม่เข้าใจการที่เชอร์ชิลดื้อดึงไม่ยอมให้อินเดียได้รับเอกราช และเพื่อเข้าใจเรื่องนี้ เราจำต้องเข้าใจคานธี ผู้เป็นปรปักษ์ของเชอร์ชิลด้วย

จะอย่างไรก็ตามแต่ วันนี้ทั้ง Fakir และ Bulldog ก็ได้มาอยู่ใกล้กันแล้ว กล่าวคือ รูปปั้นของทั้งสองอยู่ใกล้ ๆ กันในละแวกรัฐสภาอังกฤษ ไม่แน่กลางคืนอาจจะเดินไปพบปะกันบ้างก็ได้

ลองอ่านนะครับ อาจจะมีสาระสำคัญด้านอื่นที่แต่ละคนชอบไม่ตรงกันครับ ขอแจ้งให้ทราบด้วยว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัลพูลิตเซอร์ด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

– https://images-na.ssl-images-amazon.com/images/I/61ZlgOP1VGL.jpg

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *