Royals and Rebels: The Rise and Fall of the Sikh Empire

โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“Royals and Rebels: The Rise and Fall of the Sikh Empire” เขียนโดย ปรียา อัตวาล (Priya Atwal)

การศึกษาเรื่องชาวซิกข์ หรือความเป็นตัวตนของชาวซิกข์นั้น คงมิอาจทำได้ด้วยมิติอัตลักษณ์ที่มาจากศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมเท่านั้น ปัจจัยประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในยุคสมัยจักรวรรดิซิกข์ (The Sikh Empire) ก็สำคัญยิ่ง จักรวรรดิซิกข์หรือรัฐบาลคาลซา (Sarkar-e-Khalsa) เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1799 เมื่อมหาราชารันชิต สิงห์ (Ranjit Singh) หรือสิงห์แห่งปัญจาบ (The Sher-e-Punjab) ยึดเมืองลาฮอร์ได้สำเร็จ ทว่าหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1839 จักรวรรดิซิกข์ก็เริ่มเสื่อมลงโดยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการแตกแยกภายในและการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ความเสื่อมดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกเริ่มเปิดศึกสงครามกับซิกข์ในเวลาต่อมา และแล้วจักรวรรดิซิกข์ก็สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1849 ด้วยอายุเพียงประมาณ 50 ปีเท่านั้น

เท่าที่ผ่านมา วรรณกรรมส่วนใหญ่มักจะเล่าเรื่องจักรวรรดิซิกข์ว่าเป็นผลผลิตจากพระอัจฉริยภาพของมหาราชารันชิต สิงห์ แต่เพียงผู้เดียว กล่าวคือ พระองค์ทรงทำให้จักรวรรดิซิกข์เกิดขึ้นได้ และการจากไปของพระองค์ก็ทำให้จักรวรรดินี้จบลง ในหนังสือ “Royals and Rebels: The Rise and Fall of the Sikh Empire” เล่มนี้ ผู้เขียน ปรียา อัตวาล (Priya Atwal) ได้ท้าทายการเล่าเรื่องจักรวรรดิซิกข์ดังที่กระทำกันเช่นนี้มาโดยตลอด

อัตวาลศึกษาบทบาทของสตรีชนชั้นปกครองและบรรดายุวกษัตริย์ในหลายเรื่องหลายโครงการด้วยกัน เธอใช้ทั้งแหล่งข้อมูลจดหมายเหตุที่เก็บกันมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมและเอกสารบันทึกเหตุการณ์ภาษาปัญจาบี ในงานชิ้นนี้ เธอได้แสดงให้เห็นการที่สตรีมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการขยายอำนาจอธิปไตยของซิกข์ และแสดงให้เห็นด้วยว่า การปฏิเสธสิ่งนั้นมีส่วนให้จักรวรรดิล่มสลายอย่างไร ผลงานของเธอเป็นประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบว่าด้วยกษัตริย์ ผนวกกลเม็ดเด็ดพรายเชิงวิชาการเข้ากับการบรรยายอันแจ่มชัดด้วยสำนวนร้อยแก้ว เสริมความเข้าใจของเราว่าการเป็นกษัตริย์อินเดียนั้นมีความหมายเช่นไร 

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวชวนติดตามเกี่ยวกับครอบครัว ราชวงศ์ และความลื่นไหลของอำนาจ ซึ่งดำเนินไปในยุคของโลกที่มีเรื่องราวน่าทึ่ง เมื่อดาวดวงใหม่ ๆ ทอแสงขึ้นมาบนฟากฟ้า และบรรดาอาณาจักรต่าง ๆ เกิดการปะทะกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

– https://www.hurstpublishers.com/book/royals-and-rebels/

– https://artmag.co.uk/royals-and-rebels-painting-the-sikh-empire-back-into-the-frame/

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *