The Epic City: The World on the Streets of Calcutta

โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักการทูตอินเดียประจำประเทศไทยคนหนึ่งเคยบอกผมว่า คนไทยรักบ้านเกิดของตน แม้ได้ไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ก็ยังกลับมาทำงานที่ประเทศบ้านเกิด ต่างจากคนอินเดียจำนวนมาก ที่เมื่อได้ไปต่างประเทศแล้ว ก็ตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่นั่นเลย

แต่ Kushanava Choudhury ผู้เขียนหนังสือ “The Epic City: The World on the Streets of Calcutta” ดูจะสวนกระแส ไม่เป็นไปตามข้อสังเกตของนักการทูตคนดังกล่าว หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน เขาได้ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวประจำหนังสือพิมพ์ “The Statesman” ที่กัลกัตตา / โกลกาตา ทำงานอยู่ได้สักพัก ก็ไปเรียนปริญญาเอกด้านทฤษฎีการเมืองที่มหาวิทยาลัยเยล ก่อนจะกลับมาอยู่ที่กัลกัตตา

ในหนังสือเล่มนี้ Choudhury พรรณนาเมืองกัลกัตตาให้ผู้อ่านเห็นภาพอย่างน่าสนใจยิ่ง ทั้งนี้เพราะผู้เขียนซื่อตรงต่อความรู้สึก คือตัวเองรู้สึกอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าจะอาศัยอยู่ในกัลกัตตานั้นไม่ง่ายเลย ผู้เขียนชี้ให้เห็นความยากลำบากในเชิงติดตลก เช่นในตอนหนึ่งที่ว่า “เป็นเวลาหกเดือนในหนึ่งปี ที่ตัวคุณจะไม่เคยแห้งเลย คุณอาบน้ำวันละสองสามหนให้เย็นตัว แต่พอปิดก๊อกน้ำปุ๊บ เหงื่อก็เริ่มไหลปั๊บ”

กระนั้นก็ตาม Choudhury ก็พรรณนาให้เห็นความมหัศจรรย์ของกัลกัตตาด้วย หากใครประสงค์จะเข้าใจว่าความเป็นเบงกาลีคืออะไร หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะวัฒนธรรม ดนตรี ภาพยนตร์ เทศกาล ผู้คน หรืออาหาร ล้วนปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผ่านการอธิบายที่อ่านเพลิน นอกจากนี้ ความรู้ด้านการเมืองของผู้เขียนก็ปรากฏอยู่ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะความรักที่ชาวกัลกัตตามีต่อเมืองบ้านเกิดเมืองนอน หากมีโอกาสได้ไปกัลกัตตาอีก คราวนี้คงมองอะไรได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

– https://www.dnaindia.com/lifestyle/review-book-review-the-epic-city-the-world-on-the-streets-of-kolkata-2552847

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *