สื่อและเหตุการณ์ความไม่สงบในศรีลังกา

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 23 เมษายน 2562

https://xstremarea.home.blog/2019/04/23/srilanka-news/

ในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงในศรีลังการะหว่างเทศกาลปัสกา (Easter) ที่ผ่านมา การรายงานข่าวของสื่อเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยช่วยให้เราติดตามและเข้าใจความเป็นไปของสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่า การทำงานของสื่อ โดยเฉพาะสื่อและสำนักข่าวต่างประเทศที่ไม่ต้องรับผลที่จะตามมาของการรายงานข่าวของตน ก็อาจจะกลายเป็นน้ำมันที่ช่วยโหมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งที่ครุกรุ่นอยู่ในพื้นที่ให้รุนแรงยิ่งขึ้นได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ สื่อของศรีลังกาจึงค่อนข้างทำงานอย่างระมัดระวังในการรายงานข่าวสถานการณ์ โดยพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้กับประเด็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนา หรือรีบสรุปด่วนชี้นิ้วไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนี้

นอกจากนี้แล้ว ทางการศรีลังกายังควบคุมการให้บริการการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนท โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, YouTube, WhatsApp, Instagram, Snapchat และViber เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ข่าวลือและข่าวปลอม ที่จะส่งผลไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในวงกว้าง เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี ค.ศ. 2018 ที่เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญในการปลุกระดมให้มวลมหาชนลุกขึ้นต่อต้านชุมชนมุสลิมในตอนกลางของประเทศ

ควบคุมหรือปล่อยเสรี?

การควบคุมเครือข่ายสังคมออนไลน์ของรัฐบาลศรีลังกา และ การรายงานข่าวอย่างระมัดระวังของสื่อในพื้นที่ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างขวางเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสื่อในช่วงของเหตุการณ์ความไม่สงบ ในขณะที่ประชาชนและผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เอเชียใต้ส่วนหนึ่งชมเชยการทำงานของสื่อและรัฐบาลในศรีลังกาว่า เป็นการดำเนินงานอย่างชาญฉลาดในการป้องกันการขยายตัวของสถานการณ์และระดับความรุนแรง ทางด้านสำนักข่าวต่างประเทศ ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ และผู้คนในต่างประเทศที่คอยเฝ้าติดตามข่าวคราวของคนรู้จักที่กำลังเดินทางอยู่ในศรีลังกาต่างก็มองว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่อาจจะนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทางด้าน Facebook ที่เป็นเจ้าของทั้ง WhatsApp และ Instagram ด้วยนั้นก็ได้ออกมายอมรับว่ารู้เห็นเกี่ยวกับการควบคุมเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของทางการศรีลังกา โดยตระหนักดีว่าผู้คนจำนวนหนึ่งยังคงต้องอาศัยบริการของบริษัทในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัว จึงจะพยายามให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตนต่อไป พร้อมๆ กับที่จะให้ความร่วมมือกับประชาชนและประเทศศรีลังกาในช่วงวิกฤตการณ์เช่นนี้ [1] ในการรายงานสถานการณ์ความไม่สงบ อย่างเหตุการณ์ช่วงเทศกาลปัสกาในศรีลังกาที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น เราอาจจะต้องเผชิญหน้ากับคำถามที่ว่า การรายงานสถานการณ์นั้นเป็นไปเพื่ออะไร? หรือเพื่อประโยชน์ของใคร?

เพื่ออะไร? หรือเพื่อประโยชน์ของใคร?

จากการติดตามการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างๆ เราจะพบว่า สำนักข่าวต่างประเทศนั้นมักจะไม่ค่อยระมัดระวังว่า การรายงานข่าวของตนนั้นจะส่งผลร้ายอย่างไรต่อชีวิตของผู้คนหรือเสถียรภาพของประเทศที่ตนกำลังรายงานข่าว ในขณะที่สื่อในศรีลังกาและในประเทศแถบเอเชียใต้ส่วนหนึ่งจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะยกระดับสถานการณ์ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา ด้านสำนักข่าวตะวันตกและสำนักข่าวส่วนใหญ่ของอินเดียต่างก็ไม่รีรอ ที่จะโยนความรับผิดชอบให้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ไม่เคยมีประวัติเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย อีกทั้งพยายามที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์ในศรีลังกากับกระบวนการไอเอส (IS) หรือแม้กระทั่งพยายามคาดคะเนว่าจะเกี่ยวพันกับการฟื้นคืนของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ (Tamil ELAM)

ในขณะที่สื่อในศรีลังกาและในประเทศแถบเอเชียใต้ส่วนหนึ่งจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะยกระดับสถานการณ์ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา ด้านสำนักข่าวตะวันตกและสำนักข่าวส่วนใหญ่ของอินเดียต่างก็ไม่รีรอ ที่จะโยนความรับผิดชอบให้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ไม่เคยมีประวัติเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย

นักการเมืองอย่าง นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมดีแห่งอินเดีย ก็ได้ฉวยโอกาสจากเหตุการณ์ความรุนแรงในศรีลังกา ในการชักจูงให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งโลกสภาลงคะแนนเสียงให้กับตน โดยภายหลังจากที่ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีโมทีได้กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนลงคะแนนให้พรรคภารติยะ ชนะตะ เพื่อที่พรรคจะได้เป็นแกนนำในการต่อสู้กับการก่อการร้าย “เมื่อท่านไปลงคะแนนเสียงและกดที่สัญลักษณ์ดอกบัว ขอให้ท่านจงรู้ว่าท่านได้กดปุ่มที่จะช่วยหยุดยั้งการก่อการร้าย อำนาจอยู่ที่ปลายนิ้วของพวกท่าน เมื่อท่านกดที่สัญลักษณ์ดอกบัว ข้าพเจ้าก็จะมีอำนาจในการปราบปรามการก่อการร้าย” [2]

ส่วนการรายงานข่าวในช่วงสองวันหลังจากเกิดเหตุ สื่ออังกฤษ มุมมองแบบเจ้าอาณานิคมก็จะมุ่งประเด็นไปที่ความล้มเหลวในการป้องกันการก่อการร้ายและการรับมือกับสถานการณ์ของรัฐบาลศรีลังกา อย่างไรก็ตามรัฐบาลและภาคประชาสังคมของศรีลังกาต่างก็พยายามออกมาชี้แจงว่าหลักฐานชิ้นดังกล่าวเป็นหลักฐานปลอม เมื่อเวลาผ่านไป ด้านสำนักข่าวฮ่องกงและสำนักข่าวตะวันตกอื่นๆ ก็ให้น้ำหนักไปกับความสูญเสียของนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ การคาดคะเนเกี่ยวกับตัวตนของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

สื่ออาจจะช่วยให้เราเห็นความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ แต่เราต้องอย่าลืมว่าสถานการณ์ที่ปรากฎในสื่อนั้นไม่ใช่ทั้งความเป็นจริงและข้อเท็จจริง แต่เป็นภาพของเหตุการณ์ภายใต้กรอบการมองและการตีความของสื่อเอง คำถามสำคัญที่เราอาจจะต้องถามกับสื่อและตัวเราเองในฐานะผู้บริโภคสื่อก็คือ เรื่องราวที่เรากำลังบริโภคอยู่นี้เป็นเรื่องราวของใคร ของเรา? ของสื่อ? หรือเป็นเรื่องราวของผู้และสังคมที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น? หากคำตอบคือข้อสุดท้าย การรายงานสถานการณ์ของสื่อความเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้คนและสังคมนั้นหรือไม่? สันติภาพและความขัดแย้งในศรีลังกาหรือในสังคมใดๆ นั้นมีความเปราะบาง การทำงานของสื่อหรือการบริโภคสื่ออาจเป็นได้ทั้งปัจจัยที่กระตุ้นให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็นสงคราม หรือประคับประคองให้สันติภาพอันเปราะบางนั้นดำรงอยู่ก็ได้

“เราจึงจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามกับสื่อและสำนักข่าวตะวันตก และเปิดรับมุมมองและความต้องการของคนในพื้นที่บ้าง”

References

[1] MATT O’BRIEN (2019). Sri Lanka Blocks All Social Media After Easter Sunday Bombings เข้าถึงจาก https://www.thequint.com/news/world/sri-lanka-temporary-social-media-shutdown-bombings

[2] Hindustan Times (2019). Lok Sabha Elections 2019: Vote for BJP will give me strength to end terrorism, says PM Modi เข้าถึงจาก https://www.hindustantimes.com/lok-sabha-elections/lok-sabha-elections-2019-vote-for-bjp-will-give-me-strength-to-end-terrorism-says-pm-modi/story-H3436itNvWiMZNlu1Ei1zK.html

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *