วัฒนธรรมปิ่นโตในอินเดีย

โดย พาตีเมาะ แนปีแน

นิสิตสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อินเดียเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีความหลากหลายทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม อีกทั้ง มีความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น วัฒนธรรมในอินเดียที่เรียกว่า “Dabba” (ดับบา) หมายถึง “ปิ่นโต” ซึ่งเป็นการเตรียมมื้ออาหารกลางวันใส่ปิ่นโตไปรับประทานที่ทำงาน พบเห็นตั้งแต่ระดับนักเรียน พนักงานรับจ้าง พนักงานบริษัท กระทั่งจนถึงผู้นำระดับสูง

“ดับบาวาลา” เป็นอีกอาชีพที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2433 ซึ่งได้รับความนิยมและมีระบบการขนส่งอาหารที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก อาชีพดับบาวาลาเริ่มต้นจากหนุ่มชาวอินเดียที่ชื่อว่า Mahadeo Havaji Bachche ในขณะที่เขาได้ออกเดินทางจากบ้านเกิดไปทำงานในรัฐมหาราษฏร์ (Maharashtra) ชีวิตในการทำงานในเมืองใหญ่ทำให้เขาเจอปัญหามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การรับประทานอาหารกลางวันของคนทำงานในเมืองใหญ่ เนื่องจากมีร้านอาหารน้อยและราคาแพง อีกทั้งคนอินเดียก็มีวัฒนธรรมเดิมคือ ชอบทานอาหารมื้อกลางวันที่ปรุงสุกและสดใหม่จากบ้าน [1] 

ภาพยนตร์ “The Lunchbox” หรือเมนูต้องมนต์รัก ได้สะท้อนภาพของวัฒนธรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมในครอบครัวของชาวอินเดียที่สามีนั้นต้องการทานอาหารกลางวันจากฝีมือภรรยา หรือสมาชิกในครอบครัว และเป็นอาหารสดใหม่ คงความร้อนและกลิ่นหอมกรุ่น ทำให้พวกเขาไม่นิยมนำปิ่นโตติดตัวไปในตอนออกจากบ้าน แต่นิยมส่งปิ่นโตตามไปในเวลาใกล้เที่ยง ผ่านสื่อกลางที่เรียกว่า “คนส่งปิ่นโต” หรือ “ดับบาวาลา” (Dabbawala) ซึ่งคำดังกล่าวสามารถแยกออกมาดังนี้คือ “Dabba” หมายถึง “กล่อง/บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร” ส่วน “Wala” หมายถึง “ผู้ประกอบอาชีพ” ในที่นี้แปลว่า “ผู้ขนส่ง” (Carrier) [2]  

เหตุผลดังกล่าวอาชีพดับบาวาลา จึงไม่ใช่แค่เพียงคนส่งปิ่นโต แต่เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก อยู่คู่กับชาวอินเดียเป็นเวลายาวนาน จนกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอินเดีย บทความนี้จึงนำเสนอเกี่ยวกับวัฒนธรรมปิ่นโตในอินเดียผ่านภาพยนตร์ The Lunchbox จากการศึกษาเอกสาร สื่อ รวมทั้งบทความต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมปิ่นโตในอินเดีย รวมทั้งระบบการทำงานของดับบาวาลาที่ยังคงดำรงอยู่ท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต

The Lunchbox วัฒนธรรมปิ่นโตในอินเดีย

ภาพยนตร์เรื่อง “The Lunchbox” ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นเรื่องราวของอิลา (นิมรัต คาอูร์) แม่บ้านลูกหนึ่ง ผู้ถูกสามีหมางเมิน เธอจึงตั้งใจทำอาหารรสเลิศในปิ่นโตส่งไปให้สามีที่ทำงานโดยคำแนะนำของป้า ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ชั้นบนของอาคาร ด้วยหวังว่าอาหารรสเลิศของเธอจะทำให้ความสัมพันธ์ของตนเองกับสามีดีขึ้น แต่ปิ่นโตของเธอกลับส่งผิดไปให้ซาจาน เฟอร์นันเดซ (อิร์ฟาน ข่าน) เสมียนหนุ่มใหญ่วัยใกล้เกษียณผู้ปิดตัวเองจากสังคมหลังการจากไปของภรรยา

เฟอร์นันเดซ ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไร้ชีวิตชีวา จนกระทั่งได้กินอาหารรสอร่อยจากฝีมือของอิลา เมื่อรู้ว่าตนเองได้รับปิ่นโตผิด พวกเขาจึงเขียนจดหมายติดต่อกันผ่านทางปิ่นโตในทุกมื้อกลางวัน ข้อความเหล่าค่อนข้างมีพลัง ซึ่งทั้งสองมารู้ตัวอีกครั้งก็เผลอมีความรู้สึกพิเศษระหว่างกันเรียบร้อยแล้ว แม้ไม่เคยพบหน้ากันเลยก็ตาม [3] แม้ทั้งคู่ว่า ความรู้สึกดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น แต่ภาพยนตร์ก็สะท้อนให้เห็นว่า 

“บางครั้งการขึ้นรถไฟผิดขบวน อาจพาเราไปสถานีที่ใช่ก็ได้”

ฉากหนังนำเสนอเรื่องราวการส่งปิ่นโตในนครมุมไบ (Mumbai) ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวอินเดียอย่างมาก มุมไบ (Mumbai) เป็นเมืองที่ธุรกิจการส่งปิ่นโตทำรายได้อย่างมหาศาล เนื่องจากมีประชากรหนาแน่น ส่งผลให้การจราจรติดขัด รวมถึงอาหารในเมืองก็มีราคาสูง การส่งปิ่นโตจากบ้านไปทานในที่ทำงานจึงมีความสำคัญและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก [4] นอกจากการส่งปิ่นโต คือ การส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้าแล้ว วิธีการดังกล่าวจึงเป็นการสื่อให้เห็นถึงความรักของภรรยาที่มีต่อสามี หรือแม่บ้านที่มีต่อสมาชิกในครอบครัวผ่านการปรุงอาหารในแต่ละวันได้อย่างลุ่มลึกอีกด้วย

ระบบการขนส่งปิ่นโตกับกระแสเทคโนโลยีในปัจจุบัน

การทำงานของดับบาวาลาเป็นที่ยอมรับในระดับโลกทั้งเรื่องของรสชาติอาหารและประสิทธิภาพในการขนส่ง โดยเฉพาะเรื่องความแม่นยำของการจัดการ แต่ “The Lunchbox” ได้แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดของดับบาวาลาในการส่งปิ่นโต เพื่อต้องการสื่อถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในยุคใหม่ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ทั้งเรื่องของอาหาร ครอบครัว สังคม ความสนิทสนม รวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละวันที่บ่อยครั้งบกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบ
การขนส่งปิ่นโตของดับบาวาลา เริ่มต้นที่จุดรวบรวมปิ่นโตและกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นสี ตัวเลข โดยแบ่งเป็นต้นทางในการปิ่นโต สถานีรถไฟต้นทาง สถานีปลายทาง และชื่ออาคารหรือ สถานที่ปลายทางที่จะต้องส่งปิ่นโต การขนส่งปิ่นโตดังกล่าวอาจจะใช้จักรยาน รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นๆ โดยใช้ระยะทางการเดินทางประมาณ 60 – 70 กิโลเมตร การขนส่งจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ทันมื้อกลางวัน การขนส่งปิ่นโตแต่ละครั้งจะผ่านมือผู้ส่ง 3 – 4 คนต่อวัน จะเห็นได้ว่าระบบการทำงานของดับบาวาลาเรียบง่ายและแม่นยำ ดับบาวาลาเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับและทรงคุณค่าเป็นอย่างมากในสังคมอินเดีย แม้ผู้ประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะจบการศึกษาไม่สูงและเงินเดือนไม่มาก แต่ก็เพียงพอในการเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของดับบาวาลาอาจต่อยอดให้เกิดกระแสการขนส่งเดลิเวอรี่ต่างๆ ดับบาวาลาได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การให้บริการผ่าน SMS เฟซบุ๊กและเปิดเว็บไซต์ digitaldabbawala.com เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ รวมถึงเพิ่มระยะทางในการให้บริการ [5]
ในอดีตสตรีอินเดียแทบไม่มีโอกาสทำงานนอกบ้านเลย ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศสภาพในสังคมอินเดีย ซึ่งสามีของอิลาออกไปทำงานนอกบ้าน ได้เจอสังคมและผู้คนใหม่ๆ จนเกิดการหมางเมินต่อภรรยาของตน ในทางกลับกันอิลาผู้ที่เป็นภรรยามีวิถีชีวิตเป็นไปตามจารีต กลับต้องอยู่ก้นครัวคอยทำอาหารให้กับสามี ประโยคสำคัญในภาพยนตร์ ซึ่งอิลาได้เล่าให้ซาจาน เฟอร์นันเดซ ว่า สามีของเธอเอาแต่มองโทรศัพท์ราวกับว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ยุคปัจจุบัน สตรีอินเดียออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวเริ่มถูกท้าทาย กระนั้น อาชีพดับบาวาลายังคงสามารถรักษาความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม และหาแนวทางในการปรับใช้ให้เข้ากับผู้คนในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งวิธีการขนส่งปิ่นโตด้วยระบบเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม ทำให้ดับบาวาลาเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

วัฒนธรรมปิ่นโตของชาวเอเชีย

วัฒนธรรมปิ่นโตไม่ได้มีแค่เพียงในอินเดียเท่านั้น ในอดีตประเทศไทยก็นิยมการหิ้วปิ่นโต ซึ่งมีการแยกประเภทอาหารด้วยการบรรจุตามชั้นของปิ่นโตคล้ายกับอินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอาหารกลางวัน หรือรับประทานระหว่างทาง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมดังกล่าวในประเทศไทยนั้นได้รับความนิยมน้อยลงกว่าเดิม

ชาวญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมเบนโตะ แต่กล่องอาหารนั้นอาจมีความแตกต่างไปจากอินเดียและไทย เป็นอาหารที่จัดเตรียมใส่กล่องเพื่อสะดวกต่อการพกพาไปรับประทานนอกบ้านหรือระหว่างการเดินทาง ส่วนมากกล่องที่จะบรรจุอาหารนั้นมีลักษณะเหมือนกับถาดหลุม เพื่อให้สามารถจัดอาหารลงในกล่องได้อย่างเป็นสัดส่วนและมีการตกแต่งเป็นเอกลักษณ์
จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมปิ่นโตอยู่คู่กับชาวเอเชียมาช้านาน อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหารของแต่ละประเทศ ไม่เพียงแค่เป็นกล่องอาหาร แต่เราสามารถมองถึงวิธีคิด วิถีชีวิต ภูมิปัญญา หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติของกลุ่มประเทศนั้นๆ ผ่านกล่องข้าว กระบวนการเตรียมวัตถุดิบ การปรุงอาหาร หรือแม้แต่การจัดอาหารก็ตาม

ในภาพยนตร์เรื่อง “The Lunchbox” ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงวิถีชีวิตชองชาวอินเดียในมุมไบ แต่สะท้อนถึงอาหารการกิน การใช้เครื่องเทศในการปรุงอาหารซึ่งเป็นวัตถุดิบขึ้นชื่ออินเดีย โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ ราจีฟ เพื่อนของซาจาน เฟอร์นันเดซได้จัดเตรียมและหั่นวัตถุดิบประกอบอาหารในขณะโดยสารรถไฟกลับบ้านหลังเลิกงาน เหตุการณ์ดังกล่าวอาจค่อนข้างแปลกในหมู่ชาวเอเชีย แต่ก็เป็นเสน่ห์สำคัญที่ไม่อาจพบเจอที่ไหน นอกจากอินเดีย

บทสรุป: แนวโน้มความต่อเนื่องของวัฒนธรรมปิ่นโตในอินเดีย

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของผู้คนจะเห็นได้ว่านครมุมไบก็เปลี่ยนไปจากอดีตเช่นกัน มุมไบได้กลายเป็นเมืองทันสมัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และอื่นๆ ส่งผลให้ผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากและประกอบอาชีพ มุมไบยังมีคนจนอาศัยอยู่ไม่น้อย อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่า ดับบาวาลานั้นเป็นวิถีชีวิตของชาวอินเดีย แต่ไม่ได้หมายความว่า ชาวอินเดียทุกคนนั้นสามารถมีปิ่นโตเป็นมื้ออาหารกลางวันได้ ทำให้หลายคนต้องประหยัด โดยมีอาหารกลางวันแค่เพียงกล้วยหรือแอปเปิ้ลเท่านั้นเอง

หากพิจารณาถึงวัฒนธรรมปิ่นโต ก็จะพบว่า สิ่งดังกล่าวอยู่คู่กับชาวอินเดียมาช้านาน แม้วัฒนธรรมปิ่นโตยังคงอยู่ แต่ก็จำต้องปรับตัวเพื่อเท่าทันการเปลี่ยนแปลง “The Lunchbox” ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงวิธีชีวิตของคนในเมืองใหญ่อย่างมุมไบ หรือการทำงานของดับบาวาลา ในชีวิตคนเราย่อมเคยกระทำในสิ่งที่แปลกใหม่ไปจากเดิม แต่บางครั้ง ความแปลกใหม่เหล่านั้น อาจนำเราไปสู่ความสุขก็เป็นได้ ดังฉากจบของภาพยนต์เน้นย้ำให้ตระหนักเสมอว่า “บางครั้งการขึ้นรถไฟผิดขบวน อาจพาเราไปสถานีที่ใช่ก็ได้”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

[1] Blog.scglogistics. (20 พฤษภาคม 2563). Dabbawalla delivery : ปิ่นโตเพื่อชีวิต. เข้าถึงเมื่อ 25 ธันวาคม 2563 จาก https://www.scglogistics.co.th/th/dabbawalla-delivery-%E0%B8%9B

%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95/

[2] ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ. (22 ธันวาคม 2557). ปิ่นโตแขก. เข้าถึงเมื่อ 25 ธันวาคม 2563 จาก www.depthai.go.th: https://www.ryt9.com/s/expd/492235

[3] Pantip. (24 เมษายน 2557). วิจารณ์หนัง : The Lunchbox ปิ่นโตถูกปาก ผิดเถา. เข้าถึงเมื่อ 10 ธันวาคม 2563 จาก https://pantip.com/topic/31953930

[4] ประชาชาติธุระกิจ. (20 กันยายน 2560). ดับบาวาลา “คนส่งปิ่นโต” ดีลิเวอรี่มุมไบ ธุรกิจเก่าแก่ในโลกดิจิทัล. เข้าถึงเมื่อ 10 ธันวาคม 2563 จาก https://www.prachachat.net/uncategorized/news-42300

[5] หนังหลายมิติ. (4 ตุลาคม 2562). ดับบาวาลา “ธุรกิจส่งปิ่นโต”ของอินเดีย และ The lunchbox (2013). เข้าถึงเมื่อ 10 ธันวาคม 2563 จากhttps://www.blockdit.com/posts/5d963ab823b017195f896d0a

Photo credit :

https://cinediadromes.weebly.com/pirhoomicronbetaomicronlambdaepsilonsigma/-dabba-the-lunchbox-2013-ritesh-batra

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *