โดย ดลลดา ชื่นจันทร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีฝัน
Kai Po Che! บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มเพื่อนรัก 3 คนที่ชื่นชอบกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ ทั้ง 3 คนมีฝันจะเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬาและโรงเรียนสอนคริกเก็ตเป็นของตัวเอง พวกเขาเริ่มต้นด้วยต้นทุนที่ติดตัว โกวิน หนุ่มหัวดีผู้วางแผนทางธุรกิจและจัดการเงิน โอมิ ผู้มีน้าเป็นนักการเมืองใหญ่โต ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุน และสุดท้าย อิซาน อดีตนักตีคริกเก็ตระดับเขตที่ต้องการพิสูจน์ตัวให้พ่อเห็น
พวกเขาสานความฝันอย่างห้าวหาญ เริ่มต้นจากการใช้เส้นสายในการเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬาและรับฝึกสอนคริกเก็ตในพื้นที่วัดซึ่งเป็นของญาติ โดยใช้เงินทุนจาก บิตตู น้าของโอมิ ด้วยความไฟแรงและมีฝันที่ยิ่งใหญ่ ทำให้พวกเขาตัดสินใจขยับขยายร้านเพิ่มในห้างสรรพสินค้า เป็นสาขา 2 แม้ว่าจะเป็นช่วงเริ่มต้นของกิจการก็ตาม ทว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันหลายอย่างก็พลิกผัน ทำให้โอมิเป็นหนี้ติดค้างบิตตูเป็นจำนวนมากเกินจะใช้คืน หนทางการชดใช้หนี้ทั้งหมดคือ การเข้าร่วมพรรคการเมืองของโอมิ และนั่นทำให้เขาเริ่มถลำเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสูญเสีย ซึ่งหักเหเส้นทางชีวิตของพวกเขาไปคนละทิศ ท้ายแล้วบทสรุปของตัวละครเหล่านี้ในสิบปีให้หลัง กลายเป็นสิ่งที่ห่างไกลเหลือเกินจากจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยพลังวัยหนุ่ม มิตรภาพ ความฝัน และความไร้เดียงสา
ภาพยนต์กำกับโดย อภิเษก คาปัวร์ (Abhishek Kapoor) ออกฉายในปี 2013 ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง The 3 Mistakes of My Life ของเชตัน บากาต (Chetan Bhagat)
มีชาติ
ในช่วงศตวรรษที่ 19 คริกเก็ตถูกให้คำอธิบายไว้ว่าเป็นการกีฬาเพื่อฝึกฝนความเป็นสุภาพบุรุษเนื่องจากต้องใช้ความอดทนและความร่วมมือในทีมสูง มีการเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ในประเทศอาณานิคมของอังกฤษนัยว่าเพื่อขัดเกลาพฤติกรรม ขจัดฐานคิดแบบเดิมออกไปและแทนที่ด้วยค่านิยมแบบวิคตอเรียน เพื่อที่ชนพื้นเมืองจะได้คล้อยตามและให้ความร่วมมือแก่เจ้าอาณานิคมมากขึ้นในแง่ที่ว่ามีความเข้าใจต่อคุณค่าในแบบเดียวกัน สำหรับเจ้าอาณานิคมข้อบกพร่องหลายประการของค่านิยมในสังคมอินเดีย คือเรื่องวรรณะ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนและศาสนา การกดขี่ทางเพศหรือความไม่เป็นสุภาพบุรุษ ด้วยเหตุนี้เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณธรรมของชนพื้นเมืองให้สูงขึ้น คริกเก็ตจึงถูกอ้างว่าสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หล่อหลอมชนต่างๆ ที่ขัดแย้งในอินเดียเข้าด้วยกัน ปลูกฝังอุดมคติในความเป็นลูกผู้ชายที่แข็งแกร่งอดทนให้แก่ชนชาวอินเดีย ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับระบอบการปกครองแบบ “แบ่งแยกและปกครอง” (divide and rule) ของอังกฤษที่กำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนั้น
แต่สิ่งที่เจ้าอาณานิคมไม่ได้คาดคิดนั่นคือ เมื่อเหล่าเจ้าชายชั้นสูงของอินเดียเริ่มเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมกีฬาคริกเก็ตจนมีการสร้างสนามแข่ง และตั้งสโมสรของตนเองขึ้นมา เพื่อต้องการเอาชนะทีมจากอังกฤษสโมสรของชนชั้นสูงเหล่านี้จึงต้องรวบรวม “ใครก็ได้” ที่มีฝีมือ ความหลากหลายทั้งชนชั้น ศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์ในทีมคริกเก็ตเหล่านี้จึงเกิดขึ้นจริง เมื่อความนิยมในกีฬาชนิดนี้แพร่ออกไปการแข่งขันกระชับสัมพันธ์ระหว่างสโมสร ได้สร้างสิ่งที่ประชาชนทั่วไปเห็นคือภาพของชนพื้นเมืองที่มากจากหลากหลายพื้นเพกำลังแข่งขันต่อกรอยู่กับชาวตะวันตกผิวขาว ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นแรงหนุนความเป็นชาตินิยมอินเดียแบบร่วมแรงร่วมใจที่ในภายหลังจะเพิ่มทวีขึ้นในช่วงขบวนการชาตินิยมที่นำโดยมหาตมะคานธี [3]
ด้วยความเป็นมาเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า คริกเก็ตของอินเดียจึงมีจิตวิญญาณเฉพาะตัวที่ผสมความเป็นชาติเข้าไปอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้คำถามที่น่าสนใจคือ แม้ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาคริกเก็ตจะถือเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของอินเดียที่สร้างมูลค่ากว่าห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ [4] แต่แล้วความนิยมในคริกเก็ตและความเป็นชาติที่แฝงพ่วงมาด้วยนั้น สร้างมุมมองต่อความเป็นชาติของคนอินเดียในแง่ของความเท่าเทียมและหลากหลายมากแค่ไหนในชีวิตจริง
ในปีค.ศ. 2002 ถัดมาแค่เพียงปีเดียวหลังจากชาวอินเดียได้ฮึกเหิมร่วมใจในความเป็นชาติ เหตุการณ์สะเทือนขวัญก็เกิดขึ้นนั่นคือเหตุการณ์การเผารถไฟของผู้แสวงบุญฮินดูในคุชราต ทำให้เกิดจลาจลครั้งใหญ่ระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม จนเป็นเหตุให้ชาวมุสลิมกว่า 2,000 รายเสียชีวิต [5] เหตุการณ์นี้ถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์และเป็นจุดพลิกผันสำคัญของเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งเหลือเกินระหว่างความเป็นจริงและอุดมคติที่หวังให้เกิดขึ้น
หรือเช่นนี้แล้ว ความเป็นชาติและความกลมเกลียวจะเป็นได้แค่เพียงภาพฝันที่ออกมาไม่พ้นสนามคริกเก็ต
และมีคริกเก็ต
คริกเก็ตไม่ใช่กีฬาของคนใจร้อน แต่เดิมแล้วการแข่งจะเป็นแบบ Test Cricket ที่ต้องแข่งยาวกินเวลาได้ถึง 3-4 วันหรือเป็นสัปดาห์ ในแต่ละวันที่มีฝ่ายไหนทำแต้มได้มากกว่าก็ไม่ได้การันตีได้ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ ผลสรุปของกีฬาชนิดนี้จึงต้องใช้ความอดทนสะสมแต้มที่ละน้อยไปจนสุดปลายทางจึงจะตัดสินแพ้ชนะกันได้ หรืออย่างร้ายที่สุดก็อาจจบด้วยการเสมอ สำหรับชีวิตของพวกเขาทั้ง 3 ต้องใช้เวลายาวนานถึง 10 ปีกว่าจะมาถึงบทสรุป ระหว่างทางที่มีขึ้นและมีลงของจังหวะชีวิตไม่อาจทำให้เราคาดเดาถึงตอนจบได้เลย หากจะต่างกันซักหน่อยก็คงเป็นที่กีฬาชีวิตนี้ไม่มีกติกาที่แน่นอน และอาจตัดสินไม่ได้ด้วยซ้ำว่าชนะหรือแพ้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
[1] Andrew Ramsey,Martin Smith.(2017, March). Waugh opens up on Kolkata follow-on call. cricket.com.au via https://www.cricket.com.au/news/steve-waugh-exclusive-kolkata-2001-follow-on-no-regrets-david-warner-australia-india/2017-03-03
[2] Xypolia, I. (2016). Divide et impera: Vertical and horizontal dimensions of british imperialism. Critique, 44(3), 221-231.
[3] Appadurai, A. (2015). Playing with modernity: The decolonization of Indian cricket. Altre modernità, (14), 1-24.
[4] Darren Geeter.(2018, July). Why cricket is worth $5.3 billion — in just one country. cnbc.com ค้นจาก https://www.cnbc.com/2018/07/03/cricket-ipl-india-sports-mlb-baseball.html
[5] MGR Online.(2554,มีนาคม).ศาลภารตะตัดสิน “คดีมุสลิมเผารถไฟคุชราต” โทษตาย 11-จำคุกตลอดชีวิต 20. mgronline.com ค้นจาก https://mgronline.com/around/detail/9540000026783
Photo credit :
– https://klling.wordpress.com/2013/08/26/kai-po-che-2013/
– Youtube : PKS MOVIES
– https://www.netflix.com/th-en/title/70254346