โดย นงค์ลักษณ์ บัทเลอร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Bombay Begums (2021) เป็นซีรีส์ 6 ตอนใน Netflix เกี่ยวกับเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงห้าคนได้แก่ ราณี ฟาติมา ไอยชา ลักษมี และ ไช แต่ละคนมีแตกต่างด้านวัย/อายุ ภูมิหลัง ปมชีวิต ความรัก ความปรารถนา ศาสนา สถานะ ชนชั้น บทบาทกับหน้าที่ในบ้านและนอกบ้าน ความแตกต่างเหล่านี้นำไปสู่เรื่องราว การค้นหาตัวตน และทางออก โดยใช้ความรักเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องผ่านเสียงของ “ไช” เด็กหญิงผู้กำลังก้าวไปสู่วัยสาว ซึ่งเป็นเสียงที่กำลังส่งไปบอกใครต่อใครว่านี่คืออีกด้าน พวกเธอไม่ใช่ “เสียงเงียบ” อีกต่อไป เราจึงต้องเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจไปพร้อมกับๆ ฟังเสียงเฉพาะของแต่ละคนที่กำลังเปล่งเสียงของตัวเองผ่านการเลือกใช้ชีวิต การถูกประกอบสร้างจากสังคม วัฒนธรรม อุดมคติที่ถูกคาดหวังในบทบาทของการเป็นผู้หญิง ลูกสาว แม่ และเมีย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเธอพร้อมใจกันแหกคอก ฉีกกฎ ปลดแอกตัวเองนั่นคือการออกมาต่อรองกับเพศตรงข้าม หรือแม้แต่กับเพศเดียวกันในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ เสียงของ “ไช” จึงคอยแก้ต่าง เมื่อพวกเธอกำลังถูกสังคมซักฟอก ถูกตีตรา ถูกตัดสิน และถูกทำโทษ
แต่ละตอนของซีรีส์มีชื่อแตกต่างกันออกไป มี 5 ตอนถูกตั้งตามชื่อหนังสือของนักเขียนหญิง และหนังสือแต่ละเล่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงในหลากมิติ ได้แก่ ตอนที่ 1 Women Who Run With the Wolves งานเขียนของ Clarissa Pinkola Estés ตอนที่ 3 The Color Purple งานเขียนของ Alice Walker ตอนที่ 4 The Bell Jar งานเขียนของ Sylvia Plath ตอนที่ 5 The Golden Notebook งานเขียนของ Doris Lessing และตอนที่ 6 A Room of One’s Own งานเขียนของ Virginia Woolf ส่วนตอนที่ 2 ชื่อ Love ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏอยู่ในหนังสือจำนวนมหาศาล และเป็นความรู้สึกที่ถูกใช้เป็นตัวแทนของผู้หญิง ได้รับการเล่าขานมาหลายชั่วอายุคน และ “ความรัก” ที่ปรากฏในเรื่อง นำไปสู่การรัก การถูกรัก ความเจ็บปวด การทรยศ การกระทำสิ่งต้องห้าม และพวกเธอต่างจับจ่ายเพศวิถีของตัวเองทั้งเพื่อการปลดเปลื้อง ค้นหาตัวเอง ต่อรอง ท่ามกลางความรักที่พบเจอ
“ไช” สะท้อนเสียงของผู้หญิงทั้งห้าคนผ่านความรักว่า
“ผู้หญิงที่มีความรัก เหงากว่าคนที่ไม่มีรักอีก” หรือ “ความรักคือการไขว่คว้าที่เดียวดาย”
“ฟาติมา” ชีวิตเพียบพร้อมทั้งคู่ชีวิตและหน้าที่การงานที่ก้าวหน้ากว่าสามี ถูกคาดหวังจากการมีชีวิตคู่ว่าต้องเป็นแม่ การแท้งลูกเป็นจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามี ขณะเดียวกันในหน้าที่การงานเธอก็ถูกผู้ชายใช้เป็นเครื่องมือในการหั่นขาเก้าอี้ตำแหน่งของ “ราณี” นั่นไม่สำคัญเท่ากับการทำให้สามีตัวเองด้อยค่าด้วยการนอกใจไปคบกับชายต่างชาติ จนนำไปสู่การแตกหักของชีวิตคู่
“ไอยชา” ผู้หญิงวัยเริ่มทำงานที่เข้ามาเผชิญโชคและใช้ชีวิตในบอมเบย์ เธอทำงานที่เดียวกับราณีและฟาติมา สนามรบของเธอเป็นทั้งสนามรัก สนามทดลอง/ทดสอบการใช้ชีวิต ประสบการณ์ที่ยังน้อยทำให้บางครั้งเธอใช้ชีวิตหลักลอย ไร้เป้าหมายแต่ก็ทำให้เห็นการค้นหาตัวตน เธอมีความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศและเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์กับเพื่อนซึ่งเป็นสามีของผู้หญิงอีกคน ที่ไอยชามาขออยู่ด้วยระหว่างหาห้องเช่าในบอมเบย์ ส่วนการคบกับเพศเดียวกันก็เป็นการค้นหาตัวเอง และการถูกล่วงละเมิดจากผู้บริหารในที่ทำงาน จนนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองและคลี่คลายปมชีวิตของราณีซึ่งในอดีตเคยถูกล่วงละเมิด ประเด็น #MeToo นำไปสู่ตอนจบของซีรีส์ ให้กำลังใจแก่ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดว่าพวกเธอไม่เดียวดายและต้องร่วมกันเปล่งเสียงออกมา
“ลักษมี” ราชินีนักเต้นและหญิงขายบริการ ลูกชายของเธอถูกลูกชายของราณีขับรถชนจนขาพิการ เธอเฝ้ารอชายคนรักจากตะวันออกกลาง เมื่อได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เขาสัญญาจะพาเธอไปอยู่ด้วย แต่มารู้ภายหลังว่าฝ่ายชายมีภรรยาและลูก เธอไม่ได้เลือกเป็นเมียน้อยแต่นิยามตัวเองว่าเป็นคนรักของผู้ชายคนนั้น จนที่สุดเธอเลือกจะอยู่บอมเบย์และเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้จากราณีแลกกับการไม่เอาผิดลูกชายของเธอ แต่กว่าจะถึงวันที่ราชินีนักเต้นและหญิงบริการได้เปิดบริษัทเป็นของตัวเอง เธอและลูกก็ต้องเผชิญกับคำดูถูกดูแคลนและการถูกประณาม
“ไช” เด็กรอวันเป็นสาวที่มีโลกส่วนตัว แม่จากไปตั้งแต่เธอยังเยาว์ การปรับตัวเพื่อยอมรับแม่เลี้ยงอย่างราณีไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กกำลังเป็นสาวก็เรียกร้องความรักความสนใจจากเพศตรงข้าม เมื่อเธอเปิดใจยอมรับราณี ความเป็นหญิง/ความต้องการเป็นแม่ของเธอ ต่างได้เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มกันและกันในที่สุด เสียงของไชที่เล่าเรื่องของผู้หญิงตั้งแต่อดัมกับอีฟ จนมาถึงยุคปัจจุบัน เป็นการไล่เรียงให้เห็นผู้หญิงในแต่ละยุคว่าล้วนเผชิญประสบการณ์ไม่ต่างกัน
การทำงานในองค์กร สะท้อนอำนาจปิตาธิปไตยที่แฝงฝังอยู่ภายใน และผู้หญิงต้องต่อกร เจรจา ผ่อนหนักผ่อนเบา เล่นเกมต่อรองอำนาจ ชิงไหวชิงพริบตลอดเวลา และปิตาธิปไตยยังเป็นใบเบิกทางไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงในองค์กร
“สิ่งสำคัญคือเรารักษาเศษใจที่เหลือและก้าวต่อไป”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
Photo credit :
– https://in.mashable.com/entertainment/20296/bombay-begums-trailer-pooja-bhatt-shahana-goswami-amruta-subhash-are-survivors-in-this-netflix-serie
– https://readysteadycut.com/2021/03/08/recap-bombay-begums-season-1-episode-1-netflix-series/
– https://readysteadycut.com/2021/03/08/recap-bombay-begums-season-1-episode-6-netflix-series/
– https://www.freepressjournal.in/entertainment/ncpcr-asks-netflix-to-stop-streaming-bombay-begums-which-shows-minors-indulging-in-casual-sex-and-drug-abuse
– https://www.telegraphindia.com/entertainment/team-bombay-begums-pooja-bhatt-shahana-goswami-amruta-subhash-aadhya-anand-and-creator-director-alankrita-shrivastava-chat-with-t2-about-their-new-age-slice-of-life-sho/cid/1808813
– https://scroll.in/reel/988908/bombay-begums-review-spirited-performances-in-show-about-the-different-shades-of-womanhood