โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 2 เมษายน 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/04/02/r2r-2/
The Citizens Archive of Pakistan (CAP)
CAP มีเป้าหมายหลัก 3 อย่างคือ (1) เพื่อเก็บรักษาเอกสารเก่า ๆ (2) เพื่อสร้างและสนับสนุนการศึกษา (3) เพื่อพัฒนาพื้นฐานของผลผลิตทางการศึกษา อีกทั้งยังได้จัดเตรียมองค์ความรู้เกี่ยวกับปากีสถานทางด้านการศึกษา CAP ทำงานร่วมกันกับกลุ่ม Routes 2 Roots ของอินเดีย โดยเฉพาะการประสานงานทางด้าน “นักศึกษาแลกเปลี่ยน”
CAP เป็นหนึ่งในทีมทำงานของประเทศปากีสถานเพื่อช่วยเด็ก ๆ ทั้งสองประเทศให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งซอลีฮะห์ อะลาม ชาฮฺซาดา (Awaleha Alam Shahzada) เป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารและคณะกรรมการของกลุ่มได้กล่าวว่า “การเกิดขึ้นของโครงการดังกล่าวในปี 2010 จากจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วม 2,400 คน จนกระทั่งเพิ่มเป็น 5,000 คนในปี 2013 นั้น เป็นการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างกัน เด็กจากปากีสถานและอินเดียจะต้องถูกสอนในประเด็นที่สำคัญ เช่น การอดทนอดกลั้นระหว่างกันและการเห็นคุณค่าในตัวตนของผู้อื่น จนปัจจุบันกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสังคมในการเชื่อมร้อยสะพานทางความคิดของคนรุ่นใหม่”
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะอเมริกา ซึ่งในปี 2014 ได้มีการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวผ่านกลุ่มนักศึกษาในอเมริกาประมาณ 250 คน จากลาโฮร์ (Lahore) นิวยอร์ค (New York) และโคโลราโด (Colorado) เพื่อสร้างองค์ความรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
Aman Ki Acha (AKA)
หนึ่งในการทำงานเพื่อสันติภาพในพื้นที่ความรุนแรงและความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานนั้น องค์กรต่าง ๆ พยายามช่วยเหลือ สนับสนุน ให้องค์ความรู้เพื่อให้แผ่นดินดังกล่าวนั้นเกิด “สันติภาพในพื้นที่ความรุนแรง”
AKA หนึ่งในทีมทำงานเพื่อสันติภาพบนพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งมีการขับเคลื่อนผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ของสองประเทศคือ The Jang Group of Pakistan และ The Time of India ซึ่งทั้งสองนี้ถือเป็นองค์กรสื่อระดับมือชำนาญที่พยายามสร้างสันติภาพผ่านตัวอักษรบนหนังสือพิมพ์ของประเทศเกี่ยวกับการเรียกร้องทางด้านสันติภาพและพัฒนาความร่วมมือทางการทูตและวัฒนธรรมร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันของบรรดาศิลปิน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหวและภาคประชาสังคมของสองประเทศ
AKA แปลว่า “ความหวังแห่งสันติภาพ” (Destination Peace) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 เกิดจากแรงบันดาลใจของกลุ่ม NGO ที่ทำงานเพื่อสังคมผ่านสโลแกนที่ว่า “เพื่อนไร้พรหมแดน” (Friend without Borders) การทำงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างกันใต้การทำงานที่ชื่อว่า “Dil se Dil” (ใจส่งถึงใจ)
สำหรับ AKA นำเสนอโลโก้ที่ค่อนข้างทรงพลังผ่านรูปนกพิราบกางปีก “สีเขียว” และ “สีแดง” ส่วนด้านล่างก็มีการเขียนระบุว่า “Aman Ki Acha” (Destination Peace) สำหรับผลงานที่เด่นชัดที่สุดของกลุ่มนี้คือ การนำเสนอคอลัมน์พิเศษชื่อว่า “Aman Ki Acha” ในหนังสือพิมพ์ Time of India, The News และ Daily Dawn
สำหรับ “ใจส่งถึงใจ” (Heart to Heart) เป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ของ AKA เพื่อดูแลเด็กยากจนในอินเดียและปากีสถาน การทำงานหลาย ๆ กิจกรรมของ AKA ส่งผลให้ได้รับรางวัลอย่างมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น The Best in ‘Brand Awareness Across Platforms’ Award, the Best Campaign Award at the APNS annual award ceremony in 2011 และอื่น ๆ
AKA ถือเป็นการรณรงค์ในประเทศครั้งยิ่งใหญ่ ผ่านการทำงานของภาคประชาชนโดยใช้สื่อกระแสหลักของประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนด้วยการเจาะตลาดวัฒนธรรมและความชอบของคนอินเดีย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนอินเดียชอบอ่านและชอบฟัง AKA จึงมีทั้งอ่านและฟังไปในเวลาเดียวกัน
Aman Ki Acha ได้ถูกนำเสนอผ่านบทเพลง ซึ่งแต่งโดย Rahat Fateh Ali Khan ผ่านอัลบั้มดังของตน I love India-Independence Day Special นำเสนอผ่านสื่อเมื่อ 31-07-2013 สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลข่าวสารของ สามารถติดตามได้ในสื่อทางเพจเฟสบุ๊คของกลุ่ม ซึ่งนำเสนอเพื่อรณรงค์สันติภาพระหว่างสองประเทศนี้ https://www.facebook.com/amankiasha.destinationpeace/
จากการทำงานของกลุ่ม AKA พวกเขามีความตั้งใจอย่างมากมายในการสร้างสันติภาพในแผ่นดินเกิดผ่านความร่วมมือร่วมใจของสื่อยักษ์ใหญ่ของสองประเทศ เพื่อเปิดพื้นที่การสื่อสารของผู้คนสองประเทศนี้หลังจากที่ได้ขาดช่วงไปกว่า 70 ปีหลังเอกราชอินเดียและแบ่งประเทศ ประชาชนทั้งสองประเทศนี้หันหลังให้กับการพบปะกันฉันท์มิตร ตัดขาดการแบ่งปันประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา อาหาร วัฒนธรรม บทเพลงและบทกวี
เมื่อเป็นเช่นนั้นทาง AKA จึงพยายามสานต่อเรื่องราวเหล่านี้ให้กลับมาเป็นดั่งเดิม ด้วยคำพูดที่ชัดเจนที่สุดที่ได้ลั่นไว้เมื่อวันก่อตั้งกลุ่มเมื่อ 1 มกราคม 2010 นั่นก็คือ
“อนุทวีปอินเดียของพวกเราจะต้องตามรอยเท้าของปราชญ์ผู้เรืองนามที่ทิ้งไว้อยู่เบื้องหลัง เช่น นักกวีผู้ยิ่งใหญ่ หลักคำสอนของชาวซูฟีผู้บำเพ็ญตบะ ปราชญ์ชาวบักตีผู้เทศนาธรรมและปรนนิบัติตนต่อคนรอบข้างด้วยความรัก นี่คือผืนดินแห่งรพิทรนาฎ ฐากูร กาหลิบแห่งชาห์ กาบิร นานักและมูอีนุดดีน ชิสตี นี่คือจิตวิญญาณของพวกเขาที่จะชี้นำพวกเราบนเส้นทางสายนี้ ผู้คนราวพันล้านกว่าคนของแผ่นดินนี้กำลังรอคอยยุคสมัยแห่งสันติภาพ ความเสมอภาคและความสงบที่มีอยู่จริง”
เป้าหมายของ AKA คือ การเชื่อมร้อยเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจกันและรณรงค์เยาวชนหลายพันคนของสองประเทศนี้ให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันนอกจากจะมีกิจกรรมบทเพลง อ่านกวี ยังมีการเสวนาเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันเกี่ยวกับ “จากสายน้ำสู่การก่อการร้ายสู่แคชเมียร์” ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้มีนักวิชาการ องค์กรสื่อและนักเขียนจากสองประเทศเข้าร่วม
จากการศึกษาเรื่อง Comparative Study of Peace Process between Pakistan and India in the News, Daily Dawn and the Time of India: A Case study of ‘Aman Ki Asha’ของ Zumera Batool, Suaeem Yasinและ Tabinda Kurrshid พบว่า
“การทำงานของสื่อในนาม ‘Aman Ki Asha’ ตั้งแต่ปี 2010-2014 นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อมุมมองสาธารณะของประชาชน แน่นอน สื่อฉบับดังกล่าวสามารถช่วยกระบวนการสันติภาพระหว่างปากีสถานและอินเดียได้เป้นอย่างดี การนำเสนอข่าวสารดังกล่าวในปี 2010-2014 นั้นเป็นไปในทางบวก (Positive News) ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ใน The News จำนวน 216 ชิ้น หรือ 54.90 เปอร์เซ็น ส่วน Daily Dawn จำนวน 30 ชิ้น หรือ 7.60 เปอร์เซ็น และ The Times of India ประมาณ 147 ครั้ง หรือ 37.40 เปอร์เซ็น
สำหรับการนำเสนอข่าวที่เป็น “เชิงลบ” (Negative News) สำหรับ The News นั้นนำเสนอไปทั้งหมด 7 ชิ้น หรือประมาณ 21.20 เปอร์เซ็น Daily Dawn 17 ชิ้น หรือ 51.50 เปอร์เซ็น และ สำหรับสื่ออย่าง The Time of India นำเสนอไปทั้งหมด 9 ชิ้นหรือประมาณ 27.20 เปอร์เซ็น
ตั้งแต่ปี 2010-2014 สื่อหลักทั้งสามนี้ได้ตีพิมพ์ข้อเขียนต่าง ๆ เพื่อ Aman Ke Asha ซึ่งสื่อในนาม The News ได้นำเสนอบทความและข้อเขียนต่าง ๆ ทั้งหมด 301 ชิ้น สำหรับ Daily Dawn ได้นำเสนอผลงานผ่านโครงการ Aman Ke Asha ประมาณ 61 ชิ้น และ The Time of India ได้นำเสนอบทความประมาณ 208 ชิ้น [1]
สำหรับการทำงานร่วมกันขององค์กรสื่อมีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นสังคมผ่านคำพูด แง่คิดและข้อเขียนเพื่อเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึงสันติภาพที่แท้จริง เช่น คำพูดที่ถูกนำเสนอในสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง Daily Dawn ว่า
“อะไรก็แล้วแต่ที่สงครามสามารถทำได้ แน่นอน สันติภาพสามารถทำได้ดีกว่า”
การทำงานดังกล่าวของสื่อสำนักต่าง ๆ ใต้โครงการ Aman Ke Asha นั้นส่งผลให้รัฐบาลของ 2 ประเทศมีปฏิกิริยาหลายอย่างเพื่อขับเคลื่อนสันติภาพ เช่น นายกรัฐมนตรนาวาส ชารีฟ (Nawaz Shareef) ได้กล่าวว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างสองประเทศนี้มากกว่าที่ต่างคนต่างแย่งชิงกัน”
สำหรับฝั่งประเทศอินเดีย อดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง อตัล บิหารี วัชปายี (Atal Bihaari Vajpai) เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสันติภาพระหว่างสองประเทศนี้และยังพูดว่า
“ข้าพเจ้าต้องการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับมิตรสหายในประเทศต่าง ๆ ของเอเชียใต้ นั่นก็หมายว่า ข้าพเจ้าต้องการถักทอความสัมพันธ์ของเราให้เป็นไปอย่างนิ่มนวล” [2]
หลังแยกประเทศปี 1947 อินเดีย-ปากีสถานตกอยู่ใน “สภาวะแห่งมิตรภาพอันขาดดุล” มาโดยตลอด ซึ่งเกิดจากปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง เช่น ปัญหาการอพยพย้ายถิ่น ความมั่นคง พื้นที่พรหมแดน หนำซ้ำปัญหาหลักของสองประเทศนี้ที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อคือ “ข้อพิพาทแคชเมียร์” สองประเทศนี้จึงเริ่มต้นก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยการสร้างสันติภาพและความสงบสุขผ่านความร่วมมือระหว่างกัน การเจรจาสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้จึงมีความจำเป็นประการแรก ๆ เพื่อให้เกิดสันติสุขในอนาคตอันใกล้นี้ สื่อทั้งสองประเทศนี้ได้ตัวแสดงสำคัญในการนำเสนอข่าวสารเชิงบวกและสร้างกระบวนการสำคัญในประเด็นดังกล่าว [3]
แม้ “งานสันติภาพบนพื้นที่เอเชียใต้” ในขณะนี้มี “ความชัด” น้อยกว่า “หยดเลือดของความรุนแรง” กระนั้น “ความหวังแห่งสันติภาพ” ก็ทำให้คนเรายิ้มได้เสมอ แม้นต้องคอยอีกช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม เพราะไม่มีใครสามารถทนดูสภาพความรุนแรงอันหดหู่ได้อย่างสงบนิ่ง เมื่อความรุนแรงมันสุกงอม มันก็จะหล่นหายไปจากผืนดินของเราเสมอ ๆ ไม่ต่างไม้ผลทีถึงฤดูเก็บเกี่ยว
เมื่อถึงตอนนั้น สันติภาพก็จะแทงรากลงสู่พื้นดินพร้อมชูช่อหน่ออ่อน ๆ มาเชยชมพื้นโลก
เราก็หวังไม่ต่างกัน.
References
[1] Zumera Batool, Suaeem Yasin and Tabinda Kurrshid, Comparative Study of Peace Process between Pakistan and India in the News, Daily Dawn and the Time of India: A Case study of ‘Aman Ki Asha’ Journal of Politics Studies, 2 (2) 2015 หน้า 522
[2] Zumera Batool, Suaeem Yasin and Tabinda Kurrshid, หน้า 523
[3] Zumera Batool, Suaeem Yasin and Tabinda Kurrshid, Comparative Study of Peace Process between Pakistan and India in the News, Daily Dawn and the Time of India: A Case study of ‘Aman Ki Asha’ Journal of Politics Studies, 2 (2) 2015. หน้า 525.
Photo credit :
– https://www.facebook.com/citizensarchivepk/
– https://bloggplatform.wordpress.com/tag/bazaar/
– http://amankiasha.com/